EN
TCAP 48.75บาท
-0.50(-1.02%)
โครงการ “ธนชาต ริเริ่ม...เติมเต็ม เอกลักษณ์ไทย

ปี 2561

โครงการ "ธนชาต ริเริ่ม...เติมเต็ม เอกลักษณ์ไทย" เป็นโครงการที่ธนาคารธนชาต สานต่อมาจากโครงการ "นครหลวงไทย อนุรักษ์เอกลักษณ์ไทย" ของธนาคารนครหลวงไทย โดยได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2561 นี้ ดำเนินการมาเป็นปีที่ 47 โดยวัตถุประสงค์หลักของโครงการ ได้แก่ การธำรงและรักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์ความเป็นไทย ทั้งการอ่านฟังเสียงภาษาไทย และการปฏิบัติเกี่ยวกับมารยาทไทยในชีวิตประจำวัน โดยส่งเสริมให้เอกลักษณ์ดังกล่าวยังคงอยู่คู่กับคนไทย ไม่ให้เกิดการเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา และค่านิยมทางสังคมที่ได้รับผลกระทบจากวัฒนธรรมต่างชาติมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการร่วมปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนของชาติเกิดความรู้สึกรักและหวงแหนวัฒนธรรมไทย และร่วมกันรักษาไว้ให้คงอยู่คู่สังคมไทยตลอดไป ซึ่งวัฒนธรรมทางด้านภาษาไทย และมารยาทไทยนั้น จัดเป็นเอกลักษณ์สำคัญที่แสดงถึงความเป็นชาติไทยได้เป็นอย่างดี

กิจกรรมหลักตามโครงการมี 2 รูปแบบ ได้แก่ การแข่งขันอ่านฟังเสียง และการประกวดมารยาทไทย ซึ่งเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงระดับอุดมศึกษา เข้าร่วมแข่งขันในนามของสถาบัน เพื่อแข่งขัน ชิงถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โล่เกียรติบัตรและทุนการศึกษา โดยในปี 2561 มีผู้เข้าแข่งขันจากสถาบันการศึกษาทุกภูมิภาคมากกว่าทุก ๆ ปี โดยมีผู้เข้าแข่งขันจำนวนทั้งสิ้นกว่า 5,500 คน และในปีนี้ยังคงมีการประกวดมารยาทไทยสำหรับเยาวชนผู้บกพร่องทางการได้ยิน ชิงถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โล่เกียรติบัตรและทุนการศึกษา เพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้กลุ่มเด็กที่มีปัญหาบกพร่องทางการได้ยิน ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม และสามารถดำรงชีวิตอย่างมีความทัดเทียมกับบุคคลทั่วไป รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจ และศักยภาพของเด็กที่มีปัญหาบกพร่องทางการได้ยินในการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์เอกลักษณ์วัฒนธรรมไทย ผ่านการปฏิบัติตนตามมารยาทไทยที่ถูกต้อง โดยได้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 แล้ว นอกจากนี้ เพื่อส่งเสริมศักยภาพและเปิดโอกาสทางสังคม รวมทั้ง ส่งเสริมศักยภาพในกลุ่มเด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นให้เป็นที่ประจักษ์ในสังคม ธนาคารธนชาต จึงได้ริเริ่มจัด "การแข่งขันอ่านฟังเสียงสำหรับผู้บกพร่องทางการมองเห็น" ผ่านการอ่านอักษรเบรลล์ขึ้นเป็นปีแรก โดยมีครู อาจารย์ผู้สมัครจากสถาบัน การศึกษาที่ให้การศึกษาแก่เยาวชนในกลุ่มดังกล่าวทั่วประเทศร่วมส่งน้อง ๆ เข้าร่วมการแข่งขันในกิจกรรมดังกล่าว

นอกจากนี้ ในปี 2561 ยังคงจัดให้มีการประกวดคลิปวิดีโอโรงเรียนขวัญใจการประกวดในหัวข้อ "กว่าจะก้าวขึ้นเวที" เป็นปีที่ 2 เพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วมในโครงการในกลุ่มนักเรียน ครู และผู้ปกครอง โดยแบ่งการประกวดเป็น 2 ประเภท ได้แก่ มารยาทไทย และอ่านฟังเสียง โดยใช้สื่อออนไลน์ของทางกลุ่มธนชาตเป็นช่องทางหลักในการประชาสัมพันธ์กิจกรรม ซึ่งมีโรงเรียนที่สนใจเข้าร่วมการประกวดมากกว่า 60 โรงเรียน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม และส่งเสริมศักยภาพของครู อาจารย์ ให้มีความรู้ ความเข้าใจ สามารถปฏิบัติตนเป็นต้นแบบ และถ่ายทอดมารยาทไทยให้แก่เยาวชนของชาติได้อย่างถูกต้อง ธนาคารธนชาต จึงได้จัดกิจกรรม "ครูต้นแบบมารยาทไทย" โดยดำเนินการร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ขึ้นเป็นครั้งแรก มีผู้สนใจเข้ารับการอบรม กว่า 240 คน นอกจากนี้ เพื่อส่งเสริมให้พนักงานในกลุ่มธนชาตได้ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์เอกลักษณ์วัฒนธรรมไทย และสามารถนำมาประพฤติ ปฏิบัติได้จริงทั้งในเวลาทำการและนอกเวลา ทำการเพื่อให้ลูกค้าได้รับการบริการจากพนักงานที่มีมารยาทและใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง จึงได้จัดกิจกรรม "ธนชาต เท่อย่างไทย...ใคร ๆ ก็ทำได้" สำหรับพนักงานกลุ่มธนชาตขึ้น โดยได้จัดให้มีการอบรมให้ความรู้ทั้งทางด้านมารยาทไทยและการอ่านออกเสียงภาษาไทยที่ถูกต้องแก่พนักงาน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากวิทยากร จากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และมีการจัดการประกวดมารยาทไทยและแข่งขันอ่านฟังเสียงภาษาไทยในกลุ่มผู้เข้ารับการอบรมอีกด้วย

ปี 2560

กิจกรรมหลักตามโครงการมี 2 รูปแบบ ได้แก่ การแข่งขันอ่านฟังเสียง และการประกวดมารยาทไทย ซึ่งเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงระดับอุดมศึกษา เข้าร่วมแข่งขันในนามของสถาบัน เพื่อแข่งขันชิง ถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โล่เกียรติบัตรและทุนการศึกษา โดยในปี 2560 มีผู้เข้าแข่งขันจากสถาบันการศึกษาทุกภูมิภาคมากกว่า 4,000 คน และในปีนี้ยังคงมีการประกวดมารยาทไทยสำหรับเยาวชนผู้บกพร่องทางการได้ยิน ชิงถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โล่เกียรติบัตรและทุนการศึกษา เพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้กลุ่มเด็กที่มีปัญหาบกพร่องทางการได้ยิน ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม และสามารถดำรงชีวิตอย่างมีความทัดเทียมกับบุคคลทั่วไป รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจ และศักยภาพของเด็กที่มีปัญหาบกพร่องทางการได้ยินในการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์เอกลักษณ์วัฒนธรรมไทย ผ่านการปฏิบัติตนตามมารยาทไทยที่ถูกต้องโดยได้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 แล้ว

นอกจากนี้ ในปี 2560 ได้มีการเพิ่มกิจกรรมเพื่อกระตุ้นให้เด็ก เยาวชน ครู และผู้ปกครองตระหนักถึงความสำคัญ ของการอนุรักษ์เอกลักษณ์วัฒนธรรมไทยและมีส่วนร่วมในโครงการมากขึ้น โดยได้จัดการประกวดคลิปโรงเรียนขวัญใจ การประกวด ในหัวข้อ "กว่าจะก้าวขึ้นเวที" โดยแบ่งการประกวดเป็น 2 ประเภท ได้แก่ มารยาทไทย และอ่านฟังเสียง โดยใช้สื่อออนไลน์ของทางกลุ่มธนชาตเป็นช่องทางหลักในการประชาสัมพันธ์กิจกรรม ซึ่งมีโรงเรียนที่สนใจเข้าร่วมการประกวดมากกว่า 50 โรงเรียน

ปี 2559

ในปี 2559 มีผู้เข้าแข่งขันจากสถาบันการศึกษาทุกภูมิภาคมากกว่า 4,000 คน และในปีนี้ยังคงมีการประกวดมารยาทไทยสำหรับเยาวชนผู้บกพร่องทางการได้ยินชิงถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โล่เกียรติบัตรและทุนการศึกษา โดยได้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ซึ่งในปี 2559 มีโรงเรียนที่เข้าร่วมการประกวดทั้งสิ้น 12 โรงเรียน มีนักเรียนเข้าร่วมประกวดจำนวน 104 คน ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริม สนับสนุนให้กลุ่มเด็กที่มีปัญหาบกพร่องทางการได้ยิน ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ และสามารถดำรงชีวิตอย่างมีความทัดเทียมกับบุคคลทั่วไป รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจ และศักยภาพของเด็กที่มีปัญหาบกพร่องทางการได้ยินในการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์เอกลักษณ์วัฒนธรรมไทย ผ่านการปฏิบัติตนตามมารยาทไทยที่ถูกต้อง

ปี 2558

ในปี 2558 เป็นการจัดโครงการเป็นปีที่ 44 มีผู้เข้าแข่งขันจากสถาบันการศึกษาทุกภูมิภาคมากกว่า 3,000 คน และด้วยความตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริม สนับสนุนให้กลุ่มเด็กที่มีปัญหาบกพร่องทางการได้ยิน ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ และสามารถดำรงชีวิตอย่างมีความทัดเทียมกับบุคคลทั่วไป รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจ และศักยภาพของเด็กที่มีปัญหาบกพร่องทางการได้ยินในการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์เอกลักษณ์วัฒนธรรมไทย ผ่านการปฏิบัติตนตามมารยาทไทยที่ถูกต้อง ในปี 2558 จึงได้จัดให้มีการประกวดมารยาทไทยสำหรับเยาวชนผู้บกพร่องทางการได้ยินขึ้นเป็นครั้งแรก และได้ขอพระราชทานพระราชานุญาต ขอถ้วยรางวัลชนะเลิศจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้แก่ผู้ชนะเลิศ ทั้ง 2 ระดับ ซึ่งได้แก่ ระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษาอีกด้วย

นอกจากนี้ ในปี 2558 เพื่อเป็นการแสดงความมุ่งมั่นในการสืบสานและอนุรักษ์เอกลักษณ์วัฒนธรรมไทย ธนาคารธนชาตได้เข้าร่วมโครงการ "ปณิธานความดีปีมหามงคล" ซึ่งสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้จัดขึ้นเพื่อให้ประชาชนและองค์การต่าง ๆ ร่วมใจแสดงความจงรักภักดีเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ระหว่างปี 2558 – 2560 ซึ่งถือเป็นช่วงปีมหามงคลของสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยการตั้งปณิธาน มุ่งมั่นในการทำสิ่งดี ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม ซึ่งธนาคารธนชาตได้ตั้งปณิธานในการเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ว่า "จะร่วมอนุรักษ์และสืบสานการใช้ภาษาไทยและมารยาทไทยให้ถูกต้องและงดงามคู่กับสังคมไทยตลอดไป" และด้วยความมุ่งมั่นของกลุ่มธนชาตในการสานต่อการดำเนินโครงการ "ธนชาต ริเริ่ม...เติมเต็ม เอกลักษณ์ไทย" มาอย่างต่อเนื่อง ธนาคารธนชาตจึงได้รับรางวัลวัฒนคุณาธร จากกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะที่เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ประเภทองค์กร ด้านส่งเสริมศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมอีกด้วย

ปี 2557

ในปี 2557 เป็นการจัดโครงการเป็นปีที่ 43 มีผู้เข้าแข่งขันจากสถาบันการศึกษาทุกภูมิภาค มากกว่า 3,000 คน

นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมาได้มีการดำเนินงานด้านเอกลักษณ์ไทยเพิ่มขึ้นอีกโครงการ โดยการร่วมกับสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักราชเลขาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในโครงการ "ปลูกไทย...ในแบบพ่อ" โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อบูรณาการการทำงานด้านเครือข่ายเอกลักษณ์ของชาติให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง รวมทั้งสร้างเครือข่ายเยาวชนด้านเอกลักษณ์ให้สานต่อความเป็นไทยสืบต่อไป โดยธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ("ธนาคารธนชาต") เป็นหน่วยงานภาคเอกชนเพียงแห่งเดียวที่ได้รับเกียรติให้เข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายในการดำเนินงาน