EN
TCAP 49.25บาท
+0.50(1.03%)
2566
2565
2564
2563
2562
2561
2560
2559
2558
2557
2556
สรุปคำถามคำตอบการประชุมนักวิเคราะห์สำหรับไตรมาส 4 ปี 2566

ธนชาตประกันภัย
  • ในปี 2566 เบี้ยประกันภัยรับเพิ่มขึ้น แต่กำไรสุทธิไม่เพิ่มขึ้น มีสาเหตุจากอะไร

    ธนชาตประกันภัย (TNI) มีเบี้ยประกันภัยรับในปี 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 แต่สาเหตุที่กำไรสุทธิไม่เพิ่มขึ้น มีสาเหตุหลักมาจากการรับรู้รายได้ตามมาตรฐานบัญชี เนื่องจากรายได้จากการรับประกันภัยจะทยอยรับรู้ตามระยะเวลา ในขณะที่ค่าใช้จ่าย เช่น ค่าคอมมิชชั่น จะรับรู้เต็มจำนวน จึงทำให้ช่วงเวลาที่เบี้ยประกันภัยรับเติบโตสูง กำไรจะเติบโตช้าหรืออาจจะไม่เติบโต แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เบี้ยประกันภัยรับเริ่มเติบโตในอัตราที่ไม่สูงมาก กำไรสุทธิจะเติบโตเพิ่มมากขึ้น อีกสาเหตุหนึ่งคือ ค่าใช้จ่ายสินไหมทดแทนปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากหลังโควิด 19 มีการเปิดประเทศ ธุรกิจต่าง ๆ มีการขับเคลื่อนกลับมาทำงานตามปกติ อัตราการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายสินไหมทดแทนจึงปรับเพิ่มขึ้นตาม แต่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด 19

  • ธนชาตประกันภัยได้เตรียมความพร้อมสำหรับ IFRS 17 หรือไม่ อย่างไร

    มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 เรื่อง สัญญาประกันภัย (IFRS 17) เริ่มใช้ในปี 2568 ปัจจุบัน TNI และ ทีไลฟ์ ประกันชีวิต (T-Life) มีการจัดเตรียมระบบเพื่อรองรับมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 โดยมีการจ้างที่ปรึกษาเพื่อจัดทำข้อมูลเพื่อให้สามารถรายงานตามมาตรฐาน


ธนชาตพลัส
  • ในปี 2566 ธนชาตพลัสมีการเติบโตของสินเชื่อเพิ่มขึ้นมาก แต่กำไรสุทธิปรับลดลง มีสาเหตุจากอะไร

    ธนชาตพลัส (T-Plus) มียอดสินเชื่อคงค้างเติบโตได้มากกว่าเป้าหมายที่วางไว้ที่ 6,000 ล้านบาท สำหรับกำไรสุทธิที่ไม่เติบโต มีสาเหตุมาจากการคิดค่าใช้จ่ายระหว่างกัน ซึ่ง T-Plus ให้ TCAP สนับสนุนงาน Back Office ต่าง ๆ เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้น ค่าใช้จ่ายที่ TCAP คิดกับ T-Plus จึงเพิ่มขึ้นตามลำดับ

  • TCAP มีแผนจะนำธนชาตพลัสเข้าตลาดหลักทรัพย์หรือไม่

    ปัจจุบันยังไม่มีแผนการนำ T-Plus เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดย TCAP จะยังคงเป็นผู้สนับสนุนทางด้านการเงินให้กับ T-Plus นำไปปล่อยกู้เป็นหลัก เนื่องจาก TCAP มีต้นทุนการกู้ยืมที่ต่ำกว่าจากการมีอันดับเครดิตที่สูงกว่า


อยากทราบแนวโน้มการดำเนินธุรกิจของบริษัทย่อยในปี 2567
  • ราชธานีลิสซิ่ง

    ราชธานีลิสซิ่ง (THANI) ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อประมาณ 20,000 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน แม้เศรษฐกิจภาพรวมจะดีขึ้น แต่ THANI ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมปลายปี 2565 และภาวะเศรษฐกิจเติบโตแบบไม่ทั่วถึงในปี 2566 ส่งผลต่อธุรกิจ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มธุรกิจก่อสร้าง และกลุ่มรายย่อยที่รับจ้างขนส่งสินค้าเกี่ยวกับอุปโภคบริโภค ถึงแม้ว่าในปี 2567 จะมีความคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่ยังคงต้องระมัดระวัง และเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อรอจังหวะที่เหมาะสมในการเติบโตต่อไป

  • ธนชาตประกันภัย

    คาดว่าเบี้ยประกันภัยรับของ TNI จะยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายของปี 2567 ไว้ที่มากกว่า 12,500 ล้านบาท

  • ธนชาตพลัส

    คาดว่าสินเชื่อของ T-Plus จะเติบโตเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2,000 ล้านบาท จากสิ้นปีก่อนที่มียอดสินเชื่อ 6,000 ล้านบาท

  • หลักทรัพย์ธนชาต

    ที่ผ่านมา หลักทรัพย์ธนชาต (TNS) มีการ Diversify ลดการพึ่งพารายได้จาก Cash Equity แม้กำไรในปี 2566 ปรับตัวลดลงจากปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ปรับตัวลดลงอย่างมาก การแข่งขันที่รุนแรงจากการลดค่าคอมมิชชั่น แต่จากความสำเร็จของการลดการพึ่งพา Cash Equity ฝ่ายจัดการคาดว่ากำไรสุทธิของ TNS ในปี 2567 จะปรับดีขึ้นจากปี 2566 และมี ROE อยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 10


การจ่ายปันผล

สำหรับเงินปันผลที่จะจ่ายสำหรับผลการดำเนินงานปี 2566 คณะกรรมการมีมติให้เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินปันผลในอัตรา 3.20 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่จ่าย 3.10 บาท โดยบริษัทฯ ได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลปี 2566 ให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ในอัตรา 1.20 บาทต่อหุ้นแล้ว คงเหลือที่จะต้องจ่ายอีก 2.00 บาทต่อหุ้น

สรุปคำถามคำตอบการประชุมนักวิเคราะห์สำหรับไตรมาส 3 ปี 2566

อยากทราบแนวโน้มการดำเนินธุรกิจของบริษัทย่อย

ราชธานีลิสซิ่ง

ราชธานีลิสซิ่ง (THANI) ได้รับผลกระทบจากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งกลุ่ม Non-Bank ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เป็นผลมาจากการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในตลาด ประกอบกับภาพรวมทางเศรษฐกิจยังคงอ่อนแอ ส่งผลให้ NPL ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่ง THANI ได้ปรับวิธีการติดตามหนี้ วิธีการเจรจากับลูกค้า และคาดว่าหลังจากไตรมาส 4 เป็นต้นไป สถานการณ์ต่าง ๆ จะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น

ธนชาตประกันภัย

ธนชาตประกันภัย (TNI) ยังขยายธุรกิจได้ดี โดยปีนี้คาดว่าเบี้ยประกันภัยรับจะอยู่ที่มากกว่า 11,000 ล้านบาท ซึ่งเติบโตจากปีก่อนประมาณร้อยละ 8-10 โดยมาจากช่องทางที่ไม่ใช่ธนาคารเพิ่มมากขึ้น สำหรับธุรกิจประกันภัย หากมีการเติบโตของเบี้ยประกันภัยรับมากขึ้น จะส่งผลให้กำไรปรับตัวลดลง เนื่องจากการรับรู้รายได้ของเบี้ยประกันภัยรับจะทยอยรับรู้เป็นงวด ๆ ในขณะที่ค่าใช้จ่าย เช่น ค่าคอมมิชชั่นจะรับรู้แบบ One-time แต่อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ ผลตอบแทนจากการลงทุนปรับตัวสูงขึ้น จากอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่ปรับตัวสูงขึ้น TNI จึงปรับ Port การลงทุนให้มี Duration ยาวมากขึ้น ส่งผลให้กำไรสุทธิในงวด 9 เดือนปีนี้เติบโตจากงวดเดียวกันปีก่อนร้อยละ 15

ธนชาตพลัส

ธนชาตพลัส (T-PLUS) คาดว่าสิ้นปี 2566 ยอดสินเชื่อคงค้างของ T-PLUS จะเติบโตได้มากกว่าเป้าหมายที่วางไว้ที่ 6,000 ล้านบาท ซึ่ง ณ สิ้นไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ประมาณ 5,900 ล้านบาทเศษแล้ว สำหรับปีหน้า T-PLUS ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มยอดสินเชื่อคงค้างอีกประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยที่ผ่านมา NPL ยังคงเป็นศูนย์ และมีสัดส่วนการให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (Loan to Value: LTV) อยู่ที่ประมาณร้อยละ 40 แต่อย่างไรก็ตาม จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอในปัจจุบัน ฝ่ายจัดการจึงเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น


อยากทราบว่า TCAP จะมีนโยบายการจ่ายปันผลเพิ่มขึ้นในปี 2566 หรือไม่

TCAP มีการกำกับดูแลและสนับสนุนบริษัทย่อยและบริษัทร่วมให้สามารถดำเนินกลยุทธ์และสร้างผลกำไรให้ได้ตามแผนธุรกิจที่วางไว้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าบริษัทย่อยและบริษัทร่วมจะสามารถจ่ายเงินปันผลกลับมาให้ TCAP ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งจะส่งผลให้ TCAP มีเงินสดเพียงพอที่จะลงทุนเพิ่มเติม และจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นของ TCAP ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา บริษัทฯ จะรักษาระดับของเงินปันผลต่อหุ้นที่จ่ายให้กับผู้ถือหุ้นไว้ โดยคำนึงถึงผลการดำเนินงาน และการดำรงสภาพคล่องอย่างเหมาะสม ในปี 2566 นี้ คาดว่าจะสามารถจ่ายเงินปันผลได้ในอัตราที่ไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมาที่จ่าย 3.10 บาทต่อหุ้น


อยากทราบแนวทางการดำเนินธุรกิจของ TCAP

ปัจจุบัน TCAP ยังคงมองหาโอกาสในการลงทุนในหลากหลายธุรกิจ แต่ยังคงอยู่ระหว่างการศึกษาและพิจารณาต่อไป โดยในปีที่ผ่านมา TCAP ใช้เงินลงทุนไปทั้งสิ้นประมาณ 8,000 ล้านบาท ลงทุนในธุรกิจที่ TCAP มีความเชี่ยวชาญทั้งเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน TNI หลักทรัพย์ธนชาต (TNS) ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) และสนับสนุนการขยายสินเชื่อใน T-PLUS ในปีนี้ TCAP เน้นไปที่การขยายธุรกิจของ T-PLUS เป็นหลัก ส่วนเรื่องการซื้อหุ้นคืน ยังไม่อยู่ในแผนการบริหารจัดการในตอนนี้


ในไตรมาส 3 ปี 2566 มีกำไรจาก FVTPL สูงขึ้น อยากทราบว่าในไตรมาสถัด ๆ ไป จะมีเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ อย่างไร

กำไรจาก FVTPL ที่สูงขึ้นในไตรมาส 3 นั้น เป็นรายการพิเศษ เกิดจากการบริหารจัดการเงินลงทุนภายในกลุ่มธนชาต

สรุปคำถามคำตอบการประชุมนักวิเคราะห์สำหรับไตรมาส 2 ปี 2566

อยากทราบแผนการลงทุนเพิ่มเติมในปี 2566 นี้

จากวิสัยทัศน์ใหม่ของ TCAP ซึ่งไม่ได้จำกัดการลงทุนเฉพาะธุรกิจการเงินเท่านั้น แต่ยังมีการพิจารณาลงทุนในธุรกิจอื่นที่มีผลประกอบการเติบโตที่ดีสม่ำเสมอ มีธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจ และมีการจ่ายปันผลในระดับเหมาะสม ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการศึกษาและพิจารณาอยู่


อยากทราบนโยบายการจ่ายปันผลของบริษัทฯ ในปี 2566

TCAP มีการกำกับดูแลและสนับสนุนบริษัทย่อยและบริษัทร่วมให้สามารถดำเนินกลยุทธ์และสร้างผลกำไรให้ได้ตามแผนธุรกิจที่วางไว้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าบริษัทย่อยและบริษัทร่วมจะสามารถจ่ายเงินปันผลกลับมาให้ TCAP ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งจะส่งผลให้ TCAP มีเงินสดเพียงพอที่จะลงทุนเพิ่มเติม และจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นของ TCAP ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา บริษัทฯ จะรักษาระดับของเงินปันผลต่อหุ้นที่จ่ายให้กับผู้ถือหุ้นไว้ โดยคำนึงถึงผลการดำเนินงาน และการดำรงสภาพคล่องอย่างเหมาะสม โดยหากธุรกิจเติบโตดีขึ้นในระยะเวลา 2-3 ปี คณะกรรมการจะพิจารณาเพิ่มอัตราเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นต่อไป ซึ่งขณะนี้บริษัทฯ กำลังพิจารณาเงินปันผลที่จะจ่ายสำหรับผลการดำเนินงานในงวดครึ่งปีแรก


จากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน อยากทราบถึงแนวโน้มการตั้งสำรองและโอกาสในการเกิด NPL ของธนชาตพลัส

T-Plus มีความยืดหยุ่นมากกว่าธนาคารในการให้สินเชื่อแก่ลูกค้า ในแง่การเบิกจ่ายและการคืนเงินกู้ให้สอดคล้องกับการทำธุรกิจของลูกหนี้ ในขณะที่การพิจารณาให้สินเชื่อนั้น T-Plus จะพิจารณาในเรื่องหลัก ๆ คือ ความสามารถในการชำระคืนหนี้ของลูกหนี้ และหลักประกัน โดยหลักประกันต้องอยู่ในทำเลที่ดีและมีสภาพคล่องสูง ในขณะที่วงเงินการให้สินเชื่ออยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 55-60 ของมูลค่าหลักประกัน ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มี NPL เกิดขึ้น จึงไม่มีภาระเรื่องการตั้งสำรอง


อยากทราบสถานการณ์ตลาดรถยนต์มือสอง และ NPL ในกลุ่มรถบรรทุก และการเข้ามากำกับธุรกิจ Non-Bank ของธนาคารแห่งประเทศไทย

ปัญหาสะสมต่อเนื่องมาจากสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ประกอบกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับราชการยังชะลอตัวจากการเบิกจ่ายในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ส่งผลให้ NPL ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ในขณะที่ปริมาณรถยึดเพิ่มมากขึ้น ทำให้ราคารถปรับลดลง และมีขาดทุนรถยึดเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ซึ่ง THANI ได้มีการปรับวิธ๊การทวงหนี้ และเพิ่มกิจกรรมในการติดตามหนี้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น

สำหรับการเข้ามากำกับธุรกิจ Non-Bank ของธปท. นั้นคาดว่าจะไม่มีผลกระทบเนื่องจากในอดีต THANI เคยอยู่ในกลุ่มธุรกิจการเงินของธนาคารธนชาต จึงมีความคุ้นเคยกับการกำกับของ ธปท. เป็นอย่างดี การเข้ามากำกับ Non-Bank จึงเป็นเรื่องที่ดีในการยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการของธุรกิจ Non-Bank


อยากทราบว่าธุรกิจประกันในครึ่งปีหลังจะยังเติบโตได้หรือไม่ อย่างไร

คาดว่า TNI จะยังเติบโตได้ดีในช่วงครึ่งปีหลัง ถึงแม้ว่าจะชะลอลงบ้างในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมาเนื่องจากเป็นช่วง Low Season ในขณะที่ TNI มีการขยายเครือข่ายการขายผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางดีลเลอร์และโบรกเกอร์เพิ่มมากขึ้นไม่ได้พึ่งพาสาขาของธนาคารทหารไทยธนชาตเพียงอย่างเดียว ในขณะที่ธนาคารทหารไทยธนชาต ซึ่งเป็นฐานลูกค้าใหญ่ ได้มีการพัฒนาระบบ ฝึกอบรบพนักงาน เพื่อสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ของ TNI ได้ดีขึ้น ประกอบกับไตรมาส 4 ซึ่งเป็นช่วง High Season ของธุรกิจเช่าซื้อ จึงคาดว่า TNI จะสามารถมีเบี้ยประกันภัยรับในปี 2566 อยู่ที่ 12,000 ล้านบาท เติบโตได้ตามแผนที่วางไว้

สรุปคำถามคำตอบการประชุมนักวิเคราะห์สำหรับไตรมาส 1 ปี 2566

อยากทราบแผนการลงทุนเพิ่มเติมในปี 2566 นี้

ปีที่ผ่านมา TCAP ลงทุนเพิ่มเติมในธนชาตประกันภัย หลักทรัพย์ธนชาต ธนาคารทหารไทยธนชาต และสนับสนุนการขยายสินเชื่อในธนชาตพลัส จำนวน 8,267 ล้านบาท ซึ่งในไตรมาส 1 ปี 2566 ภาพรวมผลประกอบการที่ดีขึ้นเกิดจากการฟื้นตัวของบริษัทลูก และผลจากการลงทุนเพิ่มเติมในปีที่ผ่านมาที่คาดว่าจะรับรู้ผลประโยชน์ได้เต็มที่ในปี 2566 นี้

สำหรับในปีนี้มีการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในธนคารทหารไทยธนชาต และกำลังพิจารณาลงทุนในธุรกิจอื่นเพิ่มเติม ซึ่งวิสัยทัศน์ด้านการลงทุนของ TCAP ไม่ได้จำกัดการลงทุนเฉพาะธุรกิจการเงินเท่านั้น แต่ยังมีการพิจารณาลงทุนในธุรกิจอื่นที่มีการเจริญเติบโตที่ดี มีผลประกอบการดี มีการจ่ายปันผลสม่ำเสมอในอัตราสูง ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาและพิจารณาอยู่ โดยเป้าหมายของ TCAP ในปีนี้คือการรับรู้ผลประโยชน์เพิ่มเติมเต็มปีจากเงินลงทุน 8,267 ล้านบาท ที่ลงทุนไปเมื่อปีที่แล้ว ศึกษาการลงทุนในภาคธุรกิจอื่น และสนับสนุนการเติบโตของธนชาตพลัส อย่างต่อเนื่อง


อยากทราบนโยบายการจ่ายปันผลของบริษัทฯ ในปี 2566 เนื่องจากคาดการณืว่าปีนี้ TCAP จะมีผลการดำเนินงานที่เติบโตขึ้น ดังนั้น TCAP จะยังคงอัตราการจ่ายเงินปันผล (Payout Ratio) ไว้ระดับเดิมหรือลด Payout แต่เพิ่มจำนวนเงินปันผลต่อหุ้น

TCAP จะพิจารณาทั้ง 2 อย่างควบคู่กันไปทั้ง Payout Ratio และจำนวนเงินปันผลต่อหุ้นที่จ่าย โดยนโยบายการจ่ายเงินปันผลของ TCAP ที่ดำเนินการมาตลอด คือ TCAP อยากให้ผู้ถือหุ้นมอง TCAP เป็นแหล่งรายได้ที่พึ่งพาจากเงินปันผล สำหรับในอนาคต บริษัทฯ มีความพยายามที่จะรักษาระดับของเงินปันผลที่จ่ายให้กับผู้ถือหุ้นไว้ โดยคำนึงถึงผลการดำเนินงาน และการดำรงสภาพคล่องอย่างเหมาะสม ซึ่งพอถึงช่วงเวลาที่เหมาะสม คณะกรรมการจะพิจารณาเพิ่มอัตราเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นต่อไป ดังเช่นในปีที่ผ่านมา ที่เพิ่มขึ้นเป็น 3.10 บาทต่อหุ้น เพื่อให้ผู้ถือหุ้นมั่นใจในการลงทุนในหุ้นของบริษัทฯ


อยากสอบถามถึงเรื่องสิทธิประโยชน์ด้านภาษีของ TCAP ในปี 2566-2568

TCAP มีสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเกิดขึ้นทุกปี เนื่องจากรายได้หลักมาจากเงินปันผลซึ่งเป็นรายได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษี ในขณะที่ค่าใช้จ่าย เช่น ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษี ซึ่งทำให้มีสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีเกิดขึ้นทุกปี ยกเว้นในปีที่มีกำไรจากการขายทรัพย์สินรอการขายหรือกำไรจากการรับชำระหนี้รายการใหญ่ ๆ เกิดขึ้น จะมีการใช้ผลประโยชน์ทางด้านภาษีดังกล่าว ทำให้กำไรส่วนนั้นไม่ต้องเสียภาษี หรือเสียภาษีน้อยลง ในขณะที่บริษัทย่อยนั้นจะมีการเสียภาษีตามปกติ ดังนั้น หากดูตามโครงสร้างรายได้และค่าใช้จ่ายของ TCAP แล้ว TCAP จะมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีเกิดขึ้นทุกปี


อยากทราบแนวโน้มการตั้งสำรองหนี้ของกลุ่มธนชาตในปี 2566

สำหรับธนาคารทหารไทยธนชาต ซึ่งเป็นบริษัทร่วม แถลงว่า Credit Cost ปรับลดลงจากการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ จึงไม่มีความกังวล สำหรับบริษัทย่อยอย่างราชธานีลิสซิ่งในไตรมาส 1 นี้มี NPL ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งอยู่ระหว่างการประเมินการตั้งสำรอง แต่อย่างไรก็ตาม ทั้ง NPL และการตั้งสำรอง ยังอยู่ภายใต้แผนธุรกิจที่วางไว้


อยากทราบมุมมองธุรกิจประกันในระยะ 1-3 ปี เนื่องจากมีการเติบโตสูงและคาดว่าจะส่งผลดีต่อรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในระยะยาว

ในส่วนธุรกิจประกันชีวิต เนื่องจาก ที ไลฟ์ ประกันชีวิต ไม่มีเครือข่าย การเติบโตจึงค่อนข้างจำกัด แต่จะเติบโตในผลิตภัณฑ์ที่มีความเชี่ยวชาญ ส่วนธุรกิจประกันภัย ธนชาตประกันภัย มีการพัฒนาปรับปรุงในหลายด้านอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านความมั่นคง การบริหารความเสี่ยง คุณภาพการให้บริการ ซึ่งอยู่ในระดับที่ดีมาก มีการขยายเครือข่ายไม่ได้พึ่งพาสาขาของธนาคารทหารไทยธนชาตเพียงอย่างเดียว ในขณะที่ธนาคารทหารไทยธนชาต ซึ่งเป็นฐานลูกค้าใหญ่ ได้มีการพัฒนาระบบ ฝึกอบรบพนักงาน เพื่อสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ของธนชาตประกันภัยได้ดีขึ้น ซึ่งคาดว่าธนชาต ประกันภัย จะยังคงมีเบี้ยประกันภัยรับเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การบริหารการลงทุนช่วงนี้เป็นจังหวะที่สามารถเข้าไปลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอายุที่ยาวขึ้น ซึ่งส่งผลให้ผลตอบแทนการลงทุนปรับเพิ่มขึ้น

สรุปคำถามคำตอบการประชุมนักวิเคราะห์สำหรับไตรมาส 4 ปี 2565

อยากทราบนโยบายการจ่ายปันผลของบริษัทฯ ในอนาคตว่าเป็นอย่างไร เนื่องจากปี 2565 จ่ายสูงกว่าปีก่อน ๆ บริษัทฯ จะสามารถจ่ายปันผลในระดับนี้ต่อไปได้หรือไม่

สำหรับเงินปันผลที่จะจ่ายสำหรับผลการดำเนินงานปี 2565 คณะกรรมการมีมติให้เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินปันผลในอัตรา 3.10 บาทต่อหุ้น โดยบริษัทฯ ได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ในอัตรา 1.20 บาทต่อหุ้นแล้ว คงเหลือที่จะต้องจ่ายอีก 1.90 บาทต่อหุ้น สำหรับในอนาคต บริษัทฯ มีความพยายามที่จะรักษาระดับของเงินปันผลที่จ่ายให้กับผู้ถือหุ้นไว้ โดยคำนึงถึงผลการดำเนินงาน และการดำรงสภาพคล่องอย่างเหมาะสม ซึ่งพอถึงช่วงเวลาที่เหมาะสม คณะกรรมการจะพิจารณาเพิ่มอัตราเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นต่อไป เพื่อให้ผู้ถือหุ้นมั่นใจในการลงทุนในหุ้นของบริษัทฯ


ปี 2566 บริษัทฯมีแผนใช้เงินลงทุนเพิ่มสัดส่วนในบริษัทต่าง ๆ หรือปล่อยกู้ให้กับ ธนชาตพลัส อย่างไรบ้าง

ในอดีตบริษัทฯ มุ่งเน้นลงทุนในธุรกิจการเงินเป็นหลัก จะมีเพียงแค่ เอ็มบีเค เท่านั้นที่ไม่ใช่ธุรกิจการเงินที่บริษัทฯ เข้าไปลงทุน ล่าสุดบริษัทฯ มีการปรับปรุงวิสัยทัศน์ของบริษัทฯ เป็นบริษัท Holding Company ที่ลงทุนในธุรกิจหลากหลาย ไม่จำกัดตัวเองแค่ธุรกิจการเงินเพียงอย่างเดียว หากธุรกิจไหนมีศักยภาพสูง ให้ผลตอบแทนที่ดี ก็จะพิจารณาลงทุน สำหรับการลงทุนเพิ่มเติมในบริษัทย่อย ปัจจุบันสัดส่วนการลงทุนก็อยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว ทั้ง ธนชาตประกันภัย หลักทรัพย์ธนชาต และราชธานีลิสซิ่ง โดย ธนชาตประกันภัย และหลักทรัพย์ธนชาต นั้นบริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 89.96 ที่เหลือเป็นส่วนที่ถือโดยธนาคารทหารไทยธนชาต เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากฐานลูกค้าของธนาคารทหารไทยธนชาต ในการใช้ผลิตภัณฑ์และบริการของ ธนชาตประกันภัย และหลักทรัพย์ธนชาต ได้เพิ่มขึ้น ส่วนบริษัทร่วมอย่าง ธนาคารทหารไทยธนชาต ยังสามารถเพิ่มสัดส่วนได้อีกเล็กน้อย เนื่องจากปัจจุบันบริษัทฯ และบริษัทย่อยถือหุ้นอยู่ในสัดส่วนร้อยละ 24.85 ใกล้ถึงระดับที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตที่ร้อยละ 24.99 สำหรับการปล่อยกู้ให้กับ ธนชาตพลัส นั้น บริษัทฯ มีนโยบายที่จะสนับสนุนอย่างเต็มความสามารถ เนื่องจากเป็นบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโต สามารถขยายธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง และมีผลตอบแทนที่ดี


บริษัทฯ สามารถใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีได้อีกกี่ปี และคาดว่าอัตราภาษีที่แท้จริง (Effective Tax Rate) ในปี 2566-2567 คิดเป็นอัตราร้อยละเท่าไหร่

คาดว่าอัตราภาษีที่จ่ายสำหรับปี 2566-2567 ในงบการเงินรวมจะใกล้เคียงกับอัตราภาษีที่จ่ายในปี 2565 เนื่องจากภาษีที่จ่ายจะมาจากผลการดำเนินงานของบริษัทลูก ในขณะที่ผลการดำเนินงานเฉพาะบริษัทฯ นั้น รายได้หลักของบริษัทฯ จะมาจากเงินปันผลซึ่งเป็นรายได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษี ทำให้บริษัทฯ ไม่มีภาระภาษี และมีผลประโยชน์ทางภาษีเพิ่มขึ้นในแต่ละปี


ในปี 2566 มีแนวโน้มที่สถาบันการเงินจะนำ NPA ออกขายเพิ่มขึ้น บริษัทฯ เห็นโอกาสในการขยายการลงทุนมากน้อยแค่ไหน และมีโอกาสที่บริษัทฯ จะขาย NPA ชิ้นใหญ่ในพอร์ตออกไปบ้างหรือไม่

บริษัทบริหารสินทรัพย์ในกลุ่มเข้าร่วมในการประมูลซื้อสินทรัพย์ที่ธนาคารต่าง ๆ ขายออกมาอยู่เป็นประจำ แต่ยังไม่สามารถประมูลได้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่วนที่ประมูลได้มาเมื่อ 3 ปีก่อน เป็นสินทรัพย์ที่มีทำเลอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ส่งผลให้ลูกค้าส่วนใหญ่ไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ จึงทำการตีโอนสินทรัพย์เพื่อชำระหนี้เข้ามา เป็น NPA ที่รอจังหวะขาย สำหรับ NPA ชิ้นใหญ่ที่จะขายได้นั้น ยังคงไม่สามารถคาดเดาได้ ซึ่งบริษัทฯ ทำการตลาดเป็นการเฉพาะ แต่นักลงทุนยังไม่ให้ความสนใจในการซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อไปพัฒนา

สรุปคำถามคำตอบการประชุมนักวิเคราะห์สำหรับไตรมาส 3 ปี 2565

เป้าหมาย ROE ของบริษัทฯ ในช่วง 1-3 ปีข้างหน้าเป็นอย่างไร

บริษัทฯ ตั้งเป้าหมาย ROE ไว้ที่ประมาณร้อยละ 10 โดยธุรกิจที่บริษัทฯ เข้าไปลงทุนนั้น บริษัทฯ คาดหวังว่าจะได้ผลตอบแทนที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10


การลงทุนของบริษัทฯ
  • กลยุทธ์การลงทุนของบริษัทฯ

    บริษัทฯ เน้นการลงทุนในธุรกิจการเงินเป็นหลัก แต่ก็ไม่จำกัดเฉพาะธุรกิจทางการเงิน ซึ่งหากมีธุรกิจอื่นที่ให้ผลตอบแทน และความเสี่ยงที่เหมาะสม บริษัทฯ ก็ไม่ปิดโอกาสในการลงทุน

  • การลงทุนเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน ธนชาตประกันภัย และหลักทรัพย์ธนชาต

    เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2565 บริษัทฯ ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าบริษัทฯ เข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มเติมในธนชาตประกันภัย และหลักทรัพย์ธนชาต ส่งผลให้บริษัทฯ มีสัดส่วนการถือหุ้นในทั้ง 2 บริษัทเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 50.96 เป็นร้อยละ 89.96 ซึ่งสาเหตุหลักของการลงทุนเพิ่มเติมนั้น เนื่องจากทั้ง 2 บริษัทเป็นบริษัทย่อยที่สำคัญของบริษัทฯ และเป็นธุรกิจที่บริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญ มีผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด จะเห็นได้จาก ROE ของทั้ง 2 บริษัทนั้นอยู่ในระดับที่สูงมาโดยตลอด

  • การเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในบริษัทอื่นที่บริษัทฯ ถือหุ้นอยู่

    • ธนาคารทหารไทยธนชาต บริษัทฯ ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยให้ถือหุ้นธนาคารทหารไทยธนชาตได้ในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 24.99 ปัจจุบันบริษัทฯ ถือหุ้นอยู่ในสัดส่วนร้อยละ 24.87 ซึ่งบริษัทฯ จะคงสัดส่วนการลงทุนในระดับนี้ต่อไป
    • ราชธานีลิสซิ่ง ขึ้นอยู่กับจังหวะเวลา และราคาที่เหมาะสม
    • เอ็ม บี เค บริษัทฯ จะคงสัดส่วนการลงทุนที่ร้อยละ 23.32 ค่อไป

บริษัทฯ วางเป้าหมายการเติบโตของ ธนชาต พลัส อย่างไร

คาดว่า ธนชาต พลัส จะมีสินเชื่อปล่อยใหม่ปีละประมาณ 2-3 พันล้านบาท ซึ่ง ธนชาต พลัส มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี และมีคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีมาก โดย ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2565 ธนชาต พลัส มียอดสินเชื่อคงค้างมากกว่า 4 พัน ล้านบาท เติบโตได้เกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้ของทั้งปี 2565 และ NPL ยังคงเป็นศูนย์


อยากทราบถึงมุมมองของธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ

ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ยังคงเป็นธุรกิจที่สามารถขยายตัวได้ เนื่องจากในระบบธนาคารพาณิชย์ยังมี NPL เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา หลายธนาคารมีการนำ NPL มาขาย ซึ่งก็เป็นโอกาสของบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่จะเข้าไปประมูลซื้อ สำหรับบริษัทบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ที่เป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ นั้น ก็มีเข้าไปประมูลซื้อบ้าง แต่นโยบายของบริษัทฯ จะเน้นที่หลักประกันที่มีศักยภาพ อยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล แต่อย่างไรก็ตามราคาประมูลของ NPL ที่ธนาคารนำมาขายนั้น ยังค่อนข้างสูง บริษัทฯ จึงต้องเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะเข้าไปลงทุน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดี

สรุปคำถามคำตอบการประชุมนักวิเคราะห์สำหรับไตรมาส 2 ปี 2565

ในไตรมาส 2 ปี 2565 มีกำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุนจำนวน 400 ล้านบาท อยากทราบว่ามาจากรายการอะไร

เป็นการบันทึกกำไรทางบัญชีจาก Warrant ที่บริษัทฯ ได้รับมาจาก บมจ. เอ็ม บี เค (MBK) บมจ. พี อาร์ จี คอร์ปอเรชั่น (PRG) และ บมจ. ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB)


บริษัทฯ มีแผนจะซื้อหุ้นธนาคารทหารไทยธนชาต และราชธานีลิสซิ่ง เพิ่มเติมหรือไม่

สำหรับการเพิ่มการลงทุนในธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) และราชธานีลิสซิ่ง (THANI) นั้น คงต้องขึ้นอยู่กับจังหวะเวลา และราคาที่เหมาะสม แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยให้ถือหุ้นธนาคารทหารไทยธนชาตได้ในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 24.99


อยากทราบถึงอัตราการจ่ายภาษีในครึ่งปีหลัง และแนวโน้มของปี 2566

บริษัทฯ มีสิทธิประโยชน์ทางภาษีของผลขาดทุนในอดีต (Tax Loss Carry Forward) หากมีกำไรก็สามารถนำสิทธิประโยชน์ทางภาษีมาใช้ได้ ประกอบกับรายได้หลักของบริษัทฯ มาจากเงินปันผลซึ่งได้รับการยกเว้นภาษี ดังนั้นบริษัทฯ จึงไม่มีภาระภาษี แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทย่อยต่าง ๆ นั้นมีการเสียภาษีตามปกติในอัตราร้อยละ 20 จึงทำให้อัตราภาษีที่บริษัทฯและบริษัทย่อยจ่ายตามงบการเงินรวมมีอัตราที่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ซึ่งแนวโน้มของครึ่งปีหลังและปี 2566 ก็น่าจะเป็นเช่นในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา


อยากทราบถึงแผนธุรกิจในการดำเนินงานช่วงครึ่งปีหลัง

แผนธุรกิจยังคงเป็นเช่นเดิมคือ บริษัทฯ ลงทุนในธุรกิจที่เป็นกลุ่มการเงินอย่างครบวงจร โดยถือหุ้นในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเช่าซื้อและลิสซิ่ง ธุรกิจประกันภัย/ประกันชีวิต ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ และเพิ่มการลงทุนในธุรกิจที่บริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งจากภาวะเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังที่ยังคงมีแนวโน้มเติบโตได้อย่างต่อเนื่องนั้น จะเป็นส่วนช่วยส่งเสริมให้ผลการดำเนินงานของบริษัทย่อยและบริษัทร่วมสามารถเติบโตได้


ความคืบหน้าในการดำเนินธุรกิจของบริษัทย่อย
  • ราชธานีลิสซิ่ง

    ราชธานีลิสซิ่ง (THANI) มีคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีมาก NPL ปรับลดลงมามากเนื่องจาก THANI มีความเข้าใจตลาด เข้าใจลูกค้า และให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการหนี้ ปัจจุบัน THANI ขยายไปทำธุรกิจอื่นเพิ่มเติม เช่น สินเชื่อ Floor Plan และสินเชื่อจำนำทะเบียน ส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุก ซึ่งเป็นธุรกิจหลักยังเติบโตได้ดี และมีการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 2,400 ล้านบาทต่อเดือน ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565

  • บริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ

    ที่ผ่านมามีการซื้อ NPL เพิ่มเข้ามาบ้างแต่เป็นจำนวนไม่มากนัก สำหรับลูกค้าส่วนที่เป็น NPL และ NPA เก่ามีการชำระหนี้หรือมีกำไรจากการขาย NPA เข้ามาเป็นครั้งคราว

  • เอ็ม บี เค ไลฟ์ ประกันชีวิต

    ปัจจุบัน เอ็ม บี เค ไลฟ์ ประกันชีวิต ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ที ไลฟ์ ประกันชีวิต (T-Life) แล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยผลิตภัณฑ์หลักของ T-Life คือประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อ (Credit Protection) และประกันกลุ่ม (Group Life) ซึ่ง T-Life อยู่ในช่วงสร้างทีมขาย และขายผ่านเครือข่ายของธุรกิจในกลุ่ม เช่น ราขธานีลิสซิ่ง (THANI) และธนชาตพลัส (T-Plus) รวมถึงการขายผ่านบริษัทนายหน้าประกัน และมีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ส่วนการรายได้จากการลงทุนของ T-Life ปรับตัวดีขึ้นจากการปรับเปลี่ยนการลงทุนในสอดคล้องกับภาวะดอกเบี้ยในตลาด

สรุปคำถามคำตอบการประชุมนักวิเคราะห์สำหรับไตรมาส 1 ปี 2565

อยากทราบว่า TCAP มีแผนในการดำเนินธุรกิจในอนาคตอย่างไร

บริษัทฯ ลงทุนในธุรกิจที่เป็นกลุ่มการเงินอย่างครบวงจร โดยถือหุ้นในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเช่าซื้อและลิสซิ่ง ธุรกิจประกันภัย/ประกันชีวิต ธุรกิจหลักทรัพย์ และที่ผ่านมาบริษัทฯ มีเงินสดคงเหลือจากการขายธนาคารธนชาตเพื่อรวมกิจการกับธนาคารทหารไทย บริษัทฯ ได้ใช้เงินจำนวนนั้นเพิ่มการลงทุนในธุรกิจที่บริษัทฯ ลงทุนอยู่มาเป็นลำดับ ทั้งธนาคารทหารไทยธนชาต เอ็มบีเค ราชธานีลิสซิ่ง และ เอ็มบีเค ไลฟ์ ประกันชีวิต รวมทั้งบริษัทฯ ได้มีการจัดตั้งบริษัท ธนชาต พลัส เพื่อประกอบธุรกิจการให้สินเชื่อที่มีหลักประกัน


ปัจจุบัน TCAP มีเงินสดคงเหลืออยู่จำนวนเท่าไหร่ และตั้งเป้าจะเพิ่มการลงทุนในธนาคารทหารไทยธนชาต และ ราชธานีลิสซิ่ง เป็นสัดส่วนเท่าไหร่

บริษัทฯ มีแผนในการดำรงเงินสดสภาพคล่องให้ไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท แต่หากบริษัทฯ มีความต้องการใช้เงิน เช่น เพิ่มการลงทุนในธุรกิจที่บริษัทฯ ลงทุนอยู่ หรือเพิ่มการปล่อยสินเชื่อให้กับ ธนชาต พลัส บริษัทฯ ก็จะมีการเตรียมความพร้อมด้วยการออกหุ้นกู้ระดมเงินสดเพิ่มเติม สำหรับการเพิ่มการลงทุนในธนาคารทหารไทยธนชาต และราชธานีลิสซิ่งนั้น คงต้องขึ้นอยู่กับจังหวะเวลา และราคาที่เหมาะสม แต่อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยให้ถือหุ้นธนาคารทหารไทยธนชาตได้ในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 24.99

สรุปคำถามคำตอบการประชุมนักวิเคราะห์สำหรับไตรมาส 4 ปี 2564

นักลงทุนสามารถคาดหวังเงินปันผลที่ 3 บาทต่อหุ้นในปี 2565 ได้หรือไม่

บริษัทฯ มีความพยายามที่จะให้ผู้ถือหุ้นได้รับความชัดเจนในการจ่ายเงินปันผล เพื่อให้ผู้ถือหุ้นสามารถคาดการณ์กระแสเงินสดที่จะได้รับ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาบริษัทฯ มีการจ่ายเงินปันผลในอัตราที่เพิ่มขึ้นมาเป็นลำดับ โดยบริษัทฯ พยายามรักษาระดับอัตราการจ่ายเงินปันผลต่อหุ้น และเพิ่มอัตราเงินปันผลต่อหุ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในปี 2563 บริษัทฯ จ่ายเงินปันผลในอัตรา 3 บาทต่อหุ้น และในปี 2564 หากผู้ถือหุ้นอนุมัติในที่ประชุมผู้ถือหุ้น บริษัทฯ จะจ่ายเงินปันผลในอัตรา 3 บาทต่อหุ้น เช่นเดียวกัน สำหรับปี 2565 นั้น คาดว่าจะสามารถรักษาอัตราการจ่ายเงินปันผลที่ระดับเดิมได้ และในอนาคตอาจจะมีการเพิ่มขึ้น ตามผลประกอบการที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น


ธนชาต พลัส มีการเติบโตที่ดี อยากทราบว่ามีเป้าหมายการเติบโตในปี 2565 อย่างไรบ้าง

ปัจจุบัน ธนชาต พลัส ขยายการให้สินเชื่อที่มีหลักประกันไปในหลากหลายธุรกิจเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่มีลูกค้าเน้นหนักไปที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ปีนี้ธนชาต พลัส ตั้งเป้าการปล่อยสินเชื่อประมาณ 3,000 ล้านบาท และคาดว่ายอดสินเชื่อคงค้างจะอยู่ที่ประมาณ 4,000 ล้านบาท


ธนชาตประกันภัย ตั้งเป้าเบี้ยประกันภัยรับของปี 2565 ที่ 10,000 ล้านบาท อยากทราบว่ากำไรของปี 2565 จะเติบโตขึ้นหรือไม่ อย่างไร

ธุรกิจประกันภัย หากมีการเติบโตของเบี้ยประกันภัยรับมากขึ้น จะส่งผลให้กำไรปรับตัวลดลง เนื่องจากการรับรู้รายได้ของเบี้ยประกันภัยรับจะทยอยรับรู้เป็นงวด ๆ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายเช่น คอมมิชชั่นจะรับรู้แบบ One-time

สำหรับการดำเนินธุรกิจของธนชาตประกันภัย ในปี 2565 ปัจจุบัน ธนาคารทหารไทยธนชาต เข้ามาถือหุ้น ธนชาตประกันภัย ที่ร้อยละ 10 แล้ว ดังนั้น ธนชาตประกันภัยจึงมีความพยายามที่จะเชื่อมต่อฐานลูกค้า เครือข่าย และแพลตฟอร์มต่าง ๆ จากธนาคารทหารไทยธนชาต เพื่อการเติบโตของธุรกิจต่อไปในอนาคต


บริษัทฯ มีแผนที่จะลงทุนเพิ่มเติมในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมอีกหรือไม่ อย่างไร

เมื่อต้นปี 2564 บริษัทฯ เคยเปิดเผยแล้วว่าเงินสดส่วนเกินที่บริษัทมีอยู่จะใช้ในการลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจการเงินที่บริษัทฯ ถือหุ้นอยู่ ซึ่งเป็นธุรกิจที่บริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญ มีผลตอบแทนที่ดี ในปีมี่ผ่านมาบริษัทฯ เพิ่มสัดส่วนการลงทุนหลัก ๆ ในธนาคารทหารไทยธนชาต และราชธานีลิสซิ่ง ในปัจจุบัน เนื่องจากราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของทั้ง 2 บริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้น จึงต้องรอจังหวะและโอกาสที่เหมาะสมในการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในทั้ง 2 บริษัท


อยากทราบแนวทางการจัดการหุ้นทุนซื้อคืนที่บริษัทฯ ถืออยู่ประมาณ 97 ล้านหุ้น

หุ้นทุนซื้อคืนที่เหลืออยู่จำนวน 97 ล้านหุ้น จะครบกำหนดที่บริษัทฯ ต้องขายคืนในปี 2566 ซึ่งหากครบกำหนดแล้วบริษัทฯ ไม่ได้มีการขายคืนหุ้นจำนวนดังกล่าวได้ บริษัทฯ จะดำเนินการลดทุนตามจำนวนหุ้นทุนซื้อคืนคงเหลือ

สรุปคำถามคำตอบการประชุมนักวิเคราะห์สำหรับไตรมาส 3 ปี 2564

บริษัทฯ มองว่าธุรกิจใดของบริษัทฯ จะเติบโตอย่างโดดเด่นในปี 2565

ธุรกิจที่บริษัทฯ ผลักดันมากในขณะนี้ คือธุรกิจการปล่อยสินเชื่อที่มีหลักประกัน ซึ่งดำเนินการผ่าน ธนชาต พลัส (T-Plus) เนื่องจากบริษัทฯ มองเห็นโอกาสในการดำเนินธุรกิจดังกล่าว ใน 2 ด้าน คือ 1. เป็นการปล่อยสินเชื่อที่มีหลักประกัน ความเสี่ยงจึงไม่สูงมากนัก และ 2. เป็นการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อของบริษัทฯ ซึ่งลูกค้าของ T-Plus จะไม่ทับซ้อนกับลูกค้าของ ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) เนื่องจาก T-Plus เน้นลูกค้าใน 2 กลุ่มที่ธนาคารมีข้อจำกัดในการปล่อยสินเชื่อ คือ 1. กลุ่มลูกค้าที่มีการใช้เงินทุนมีความผันผวนสูง ซึ่ง T-Plus มีความยืดหยุ่นกว่าธนาคาร โดยจะออกแบบสินเชื่อให้เหมาะสมกับเงินทุนที่ลูกค้าต้องการ และเหมาะกับกระแสเงินสดของลูกค้า และ 2. กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่ง T-Plus จะพิจารณาจากหลักประกันของลูกค้าเป็นหลัก โดยการทำธุรกิจของ T-Plus จะเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าและไม่ได้เป็นการแข่งขันกับธนาคาร

สำหรับปี 2565 ภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัว ซึ่งคาดว่าจะส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจของ TTB รวมถึง ราชธานีลิสซิ่ง (THANI) ด้วย


แนวโน้มการเติบโตของ T-Plus และ NPL

คาดว่าในสิ้นปี 2564 จะมียอดสินเชื่อคงค้างประมาณ 2.5 พันล้านบาท และจะเติบโตได้ประมาณ 2-3 พันล้านบาท ในปี 2565 สำหรับ NPL ปัจจุบันยังเป็นศูนย์ เนื่องจากผู้บริหารของบริษัทฯ และ T-Plus มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจนี้ มีการคัดกรองลูกค้าอย่างเหมาะสมมีประสิทธิภาพ พิจารณาหลักประกันอย่างรอบคอบ


แผนการดำเนินธุรกิจของ เอ็ม บี เค ไลฟ์ ประกันชีวิต (MBK-Life) หลังจากเข้าถือหุ้น MBK-Life ร้อยละ 100

ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการหลายด้าน ที่สำคัญคือการดำเนินการด้านการตลาด โดยการขยายเครือข่ายและร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทต่าง ๆ ที่ทำธุรกิจให้สินเชื่อ เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อ (Credit Shield) ให้กับลูกค้าของบริษัทเหล่านี้ ในขณะที่การให้บริการลูกค้าของ MBK-Life ในปัจจุบันซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าประกันกลุ่ม (Group Life Insurance) จะเน้นไปที่การรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า รวมถึงการขยายฐานลูกค้า และให้ลูกค้าใช้ผลิตภัณฑ์ของ MBK-Life มากยิ่งขึ้น


แผนการเติบโตของธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (Distressed Asset Management)

ผลการดำเนินธุรกิจของบริษัทบริหารสินทรัพย์ภายใต้กลุ่มธนชาตในปี 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ความสำเร็จในการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นผลจากความเชี่ยวชาญของกลุ่มธนชาตในการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงการคัดเลือกสินทรัพย์ที่มีศักยภาพ โดยเน้นที่ SME ขนาดกลาง ซึ่งต่างจากบริษัทที่ดำเนินธุรกิจนี้ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่จะเน้นไปที่รายย่อยเป็นหลัก


สาเหตุการลดลงของอัตราภาษีในไตรมาส 3 ปี 2564

บริษัทฯ มีสิทธิประโยชน์ทางภาษีของผลขาดทุนในอดีต (Tax Loss Carry Forward) และในไตรมาส 3 ปี 2564 บริษัทฯ มีกำไรส่วนหนึ่งที่เกิดจากการดำเนินงานของบริษัทฯ เอง ดังนั้น กำไรดังกล่าวจึงไม่ต้องเสียภาษี ทำให้อัตราภาษีที่จ่ายปรับลดลง


เงินสดคงเหลือของบริษัทฯ

เมื่อต้นปี 2564 บริษัทฯ ให้ข้อมูลกับผู้ถือหุ้นว่าบริษัทฯ มีสินทรัพย์สภาพคล่องคงเหลือประมาณ 10,000 ล้านบาท นั้น ซึ่งในระหว่างปี 2564 บริษัทฯ ได้ลงทุนเพิ่มเติมใน TTB THANI เอ็ม บี เค (MBK) และ MBK-Life รวมถึงการปล่อยสินเชื่อผ่าน T-Plus ส่งผลให้ในปัจจุบัน บริษัทฯ มีสินทรัพย์สภาพคล่องคงเหลืออยู่ประมาณ 3,000 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีนโยบายที่จะรักษาสภาพคล่องไว้ระดับหนึ่งเพื่อรองรับการดำเนินงานของบริษัทฯ


การจ่ายปันผล

บริษัทฯ มีความพยายามที่จะรักษาระดับของเงินปันผลที่จ่ายให้กับผู้ถือหุ้นไว้ โดยคำนึงถึงผลการดำเนินงาน กระแสเงินสด และการดำรงสภาพคล่องอย่างเหมาะสม เพื่อให้ผู้ถือหุ้นมั่นใจในการลงทุนในหุ้นของบริษัทฯ ซึ่งปัจจุบันจากการประเมิน บริษัทฯ ยังมีความเชื่อมั่นว่ากำไรโดยรวมของบริษัทฯ จะเพียงพอที่จะรองรับการจ่ายเงินปันผลในอัตรา 3 บาทต่อหุ้น ได้ต่อไป ที่ผ่านมาเงินปันผลที่บริษัทฯ จ่ายให้กับผู้ถือหุ้น ปรับเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการปรับเพิ่มเงินปันผลในอนาคตจึงมีโอกาสเป็นไปได้ หากบริษัทย่อยและบริษัทร่วมของบริษัทฯ มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น และสามารถจ่ายปันผลให้กับบริษัทฯ ได้ตามนโยบายที่วางไว้

สรุปคำถามคำตอบการประชุมนักวิเคราะห์สำหรับไตรมาส 2 ปี 2564

อยากทราบถึงกลยุทธ์ในการดำเนินงานครึ่งปีหลังของบริษัทย่อย

ราชธานีลิสซิ่ง (THANI) ตั้งแต่ต้นปีมีการเติบโตสินเชื่อได้ดีกว่าเป้าหมาย แต่จากการที่ภาครัฐได้มีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดมากขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน จึงทำให้การขยายสินเชื่อของ THANI ต้องพิจารณาความเหมาะสมอย่างระมัดระวัง สำหรับ ธนชาตประกันภัย (TNI) ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องมาตลอดคือการเพิ่มช่องทางการขายให้หลากหลายมากยิ่งขึ้นและการขยายฐานลูกค้า เพื่อลดการพึ่งพาการขายผ่านช่องทางสาขาของธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) ลง และเพิ่มช่องทางการขายไปในช่องทางอื่น ๆ แต่ในส่วนของช่องทางสาขานั้น ได้มีการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างทีมงานของ TNI และ TTB มีการวางระบบการขายและผึกอบรมพนักงาน TTB เพื่อให้ขายผลิตภัณฑ์ของ TNI ได้มากขึ้น ซึ่งก็ตรงกับความต้องการของ TTB ที่ต้องการขยายธุรกิจที่ได้รับรายได้ค่าธรรมเนียม ส่วนหลักทรัพย์ธนชาต (TNS) นั้น มีแผนที่จะเพิ่มความหลากหลายของรายได้ไปที่ผลิตภัณฑ์ที่อื่นนอกเหนือจากรายได้ค่าธรรมเนียมจากการซื้อขายหลักทรัพย์มากขึ้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ชื่อว่า Zeal สามารถเติบโตได้ดี ประกอบกับการควบคุมต้นทุน และการพยายามนำ Digital เข้ามาใช้เพื่อขยายตลาดในวงกว้างมากขึ้น ตอนนี้เริ่มต้น ดำเนินการสร้าง Application ต่าง ๆ เพื่อให้ลูกค้าเปิดบัญชีได้ง่ายขึ้น เข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น ซื้อขายได้สะดวกรวดเร็วขึ้น รับบริการต่าง ๆ ได้ดีขึ้น

ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้เข้าไปร่วมจัดการวางแผนด้านการเงินกับบริษัทย่อย ส่งผลให้ทุกบริษัทมีโครงสร้างทางการเงินที่แข็งแกร่ง มีแหล่งในการระดมเงินที่หลากหลาย มีสัดส่วนเงินกู้ยืมระยะสั้นและระยะยาวที่เหมาะสม ลดการพึ่งพาเงินทุนจากบริษัทฯ ซึ่งเป็นนโยบายที่บริษัทฯ วางไว้เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แต่ละบริษัทและเตรียมความพร้อมสำหรับการเติบโตในอนาคต


อยากให้อธิบายรายละเอียดของบริษัท ธนชาต พลัส จำกัด เพิ่มเติม

ธนชาต พลัส (T-Plus) ดำเนินธุรกิจการให้สินเชื่อที่มีหลักประกัน (Asset-based Finance) ประเภทอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งบริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจ Corporate Finance เน้นการหา Solution ให้กับลูกค้า และ T-Plus เองมีความยืดหยุ่นสูงกว่าสถาบันการเงินในการพิจารณาให้สินเชื่อแก่ลูกค้า โดยจะพิจารณาให้สินเชื่อตามศักยภาพของหลักประกัน และความสามารถในการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยของลูกค้า ซึ่งบริษัทฯ เล็งเห็นโอกาสในการทำธุรกิจนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกค้า SME ขนาดกลางขึ้นไปภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่ลูกค้าบางรายอาจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เนื่องจาก เป็นการให้สินเชื่อระยะสั้นถึงปานกลางประมาณ 2-3 ปี อัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี มีอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกันประมาณร้อยละ 50 – 60 ซึ่งบริษัทฯ คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะมียอดสินเชื่อคงค้างประมาณ 2,000 – 3,000 ล้านบาท และตั้งเป้าว่าจะเติบโตเฉลี่ยปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท


อยากทราบนโยบายการจ่ายปันผลของบริษัทฯ ในปี 2564 ว่าเป็นอย่างไร

บริษัทฯ มีความพยายามที่จะรักษาระดับของเงินปันผลที่จ่ายให้กับผู้ถือหุ้นไว้ โดยคำนึงถึงผลการดำเนินงาน และการดำรงสภาพคล่องอย่างเหมาะสม เพื่อให้ผู้ถือหุ้นมั่นใจในการลงทุนในหุ้นของบริษัทฯ ซึ่งปัจจุบันจากการประเมิน บริษัทฯ ยังมีความเชื่อมั่นว่ากำไรโดยรวมของบริษัทฯ จะเพียงพอที่จะรองรับการจ่ายเงินปันผลในอัตรา 3 บาทต่อหุ้น ได้ต่อไป

สรุปคำถามคำตอบการประชุมนักวิเคราะห์สำหรับไตรมาส 1 ปี 2564

บริษัท ธนชาต พลัส จำกัด ที่บริษัทฯ จัดตั้งขึ้นมาใหม่ ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อประเภทไหน อยากทราบรายละเอียด

บริษัท ธนชาต พลัส จำกัด ดำเนินธุรกิจการให้สินเชื่อที่มีหลักประกัน (Asset-based Finance) โดยหลักประกันเป็นอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะพิจารณาให้สินเชื่อตามศักยภาพของหลักประกัน และความสามารถในการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยของลูกค้า ซึ่งบริษัทฯ เล็งเห็นโอกาสในการทำธุรกิจนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกค้า SME ขนาดกลางขึ้นไปภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่ลูกค้าบางรายอาจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เนื่องจาก เป็นการให้สินเชื่อระยะสั้นถึงปานกลางประมาณ 2-3 ปี อัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี มีอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกันประมาณร้อยละ 50 – 60 และ Credit Cost ค่อนข้างต่ำ บริษัทฯ คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะมียอดสินเชื่อคงค้างประมาณ 2,000 – 3,000 ล้านบาท โดยบริษัทฯ จะใช้สภาพคล่องที่บริษัทฯ มีอยู่ประมาณ 8,000 – 9,000 ล้านบาท มาใช้เพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น


อยากทราบว่าค่าใช้จ่ายในการรับประกันภัย / ประกันชีวิต ในไตรมาส 1 ปี 2564 ปรับตัวลดลงเกิดจากสาเหตุใด

สาเหตุหลักเกิดจาก Yield Curve ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงต้นปี 2564 ส่งผลให้การตั้งสำรองของธุรกิจประกันชีวิตลดลง ซึ่งการที่ Yield Curve ปรับตัวสูงขึ้น ยังส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยจากเงินลงทุนของทั้งธุรกิจประกันภัย และธุรกิจประกันชีวิตมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น


บริษัทฯ มีแผนจะลงทุนเพิ่มเติมในหุ้นของธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) เพิ่มเติมอีกหรือไม่ อย่างไร

หากราคาหุ้นของ TTB อยู่ในระดับที่เหมาะสม และแนวโน้มของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ปรับตัวดีขึ้น บริษัทฯ จะพิจารณาลงทุนเพื่อเพิ่มสัดส่วนมากขึ้น ซึ่งนโยบายดังกล่าวยังรวมไปถึงหุ้นของราชธานีลิสซิ่ง (THANI) ด้วย


อยากทราบนโยบายการจ่ายปันผลของบริษัทฯ ในปี 2564 ว่าเป็นอย่างไร

บริษัทฯ จ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานปี 2563 เป็นจำนวน 3 บาท ต่อหุ้น แบ่งเป็น 2 ครั้ง โดย ครั้งแรกจ่าย 1.20 บาท ต่อหุ้น และครั้งที่ 2 จ่าย 1.80 บาท ต่อหุ้น บริษัทฯ มีความพยายามที่จะรักษาระดับของเงินปันผลที่จ่ายให้กับผู้ถือหุ้นไว้ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นมั่นใจในการลงทุนในหุ้นของบริษัทฯ ซึ่งปัจจุบันจากการประเมินบริษัทฯ ยังมีความเชื่อมั่นว่ากำไรโดยรวมของบริษัทฯ น่าจะเพียงพอที่จะรองรับการจ่ายเงินปันผลในอัตรา 3 บาทต่อหุ้น ได้ต่อไป


ปี 2563 ที่ผ่านมา ราชธานีลิสซิ่ง มีสินเชื่อหดตัวลง เกิดจากสาเหตุใด

เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีความเปราะบางตั้งแต่ก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จนถูกซ้ำเติมอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 THANI จึงดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง ส่งผลให้ปี 2563 ที่ผ่านมา THANI มีการหดตัวลงของสินเชื่อ แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการเสริมความแข็งแกร่งให้กับ THANI โดยสนับสนุนให้ THANI ดำเนินการปรับโครงสร้างทางการเงินด้วยการเพิ่มสัดส่วนเงินกู้ยืมระยะยาวมากขึ้น รวมถึงการลดอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E Ratio) ลงจากประมาณร้อยละ 5 เหลือประมาณร้อยละ 3 ทั้งนี้ บริษัทฯ คาดว่าภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 คลี่คลายลง THANI จะมีความพร้อมที่จะเติบโตและขยายธุรกิจได้เพิ่มขึ้น ซึ่งในไตรมาส 1 ปี 2564 สินเชื่อของ THANI ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสิ้นปีที่ผ่านมา สำหรับการดำเนินธุรกิจของ THANI นั้น ยังคงเน้นการทำธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกใหม่ และจะขยายการทำธุรกิจในกลุ่มรถตู้ราคาสูง ซึ่งเป็นกลุ่มตลาดที่ยังมีความแข็งแรง ไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากภาวะเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกัน THANI ยังได้ร่วมมือกับ ธนชาตประกันภัย (TNI) ในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันภัยสำหรับรถบรรทุก รถสมรรถนะสูง (Super Car) และรถยนต์พรีเมี่ยม (Luxury Car) ให้กับลูกค้าของ THANI เพิ่มเติมอีกด้วย

สรุปคำถามคำตอบการประชุมนักวิเคราะห์สำหรับไตรมาส 4 ปี 2563

บริษัทฯ มีแผนการลงทุนซื้อ NPL และ NPA เพื่อบริหารจัดการ อย่างไร

บริษัทฯ ยังไม่ได้ดำเนินการซื้อ NPA เข้ามาบริหารในช่วงนี้ แต่เนื่องจากบริษัทฯ ไม่ได้เป็นกลุ่มธุรกิจทางการเงินภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว NPA ที่บริษัทฯ มีอยู่บางรายการ บริษัทฯ มีแผนในการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มมูลค่า ศักยภาพและโอกาสในการขายทำกำไรในอนาคต สำหรับการซื้อ NPL นั้นมีการศึกษาและพิจารณาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ตรงตามนโยบายของบริษัทฯ จึงยังไม่ตัดสินใจลงทุนในขณะนี้


ธุรกิจใดจะเป็นธุรกิจที่เติบโตของบริษัทฯ ในปี 2564

ตามแผนธุรกิจแล้ว ทุกธุรกิจเป็นธุรกิจที่เติบโตของบริษัทฯ โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • ราชธานีลิสซิ่ง ในปี 2563 ที่ผ่านมา มีการปล่อยสินเชื่อด้วยความระมัดระวัง จากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลให้ยอดสินเชื่อคงค้างปรับตัวลดลง แต่อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิของราชธานีลิสซิ่งยังอยู่ในระดับที่ให้อัตราผลตอบแทนที่ดี สำหรับในปีนี้ ราชธานีลิสซิ่งยังคงนโยบายการปล่อยสินเชื่อด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากมีการระบาดระลอกใหม่ ในช่วงปลายปี 2563 ต่อเนื่องมาถึงต้นปี 2564 แต่หากการกระจายวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 มีประสิทธิภาพและทั่วถึงในช่วงครึ่งปีหลัง ภาคธุรกิจต่างๆกลับมาฟื้นตัวได้ ความต้องการสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อราชธานีลิสซิ่ง
  • ธนชาตประกันภัย ในปี 2563 ที่ผ่านมา มีการทำการตลาดผ่านช่องทาง Non-bank และ External Broker เพิ่มขึ้น โดยมีสัดส่วนยอดขายผ่านช่องทางดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 33 ในปี 2562 เป็นร้อยละ 43 ในปี 2563 สำหรับในปีนี้ ธนชาตประกันภัยมีแผนที่จะเพิ่มยอดขายผ่านสาขาของ TMB เพิ่มมากขึ้น รวมถึงมีการพัฒนา Digital Insurance และผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่เหมาะสมกับการนำเสนอผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงความคุ้มครองได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย รวมถึงมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในกระบวนการทำงานมากขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพของธุรกิจและส่งมอบการบริการให้กับลูกค้า คู่ค้า ได้อย่างรวดเร็ว ทั่วถึงและขยายฐานลูกค้าให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น
  • หลักทรัพย์ธนชาต ในปี 2563 ที่ผ่านมา ธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เติบโตได้ดี เนื่องจากได้รับผลกระทบเชิงบวกจากการระบาดของโรค COVID-19 สำหรับในปีนี้ หลักทรัพย์ธนชาตมีแผนที่จะปรับโครงสร้างรายได้ด้วยการลดการพึ่งพารายได้จากค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ โดยขยายไปยังธุรกิจอื่น เช่น การซื้อขายหน่วยลงทุน ตราสารอนุพันธ์ และZEAL ซึ่งเป็นการบริหาร Port การลงทุนเพื่อผลตอบแทนที่เป็นบวก โดยไม่อิงดัชนีตลาดหุ้น

นโยบายการจ่ายเงินปันผลของบริษัทฯ เป็นอย่างไร

บริษัทฯ มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลแบบ Progressive กล่าวคือจำนวนเงินปันผลต่อหุ้นที่จ่ายจะไม่น้อยกว่า ปีที่ผ่านมา โดยคำนึงถึงผลประกอบการควบคู่กันไป ซึ่งในอดีตบริษัทฯ จ่ายเงินปันผลเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับปี 2563 คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติให้เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติการจ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานปี 2563 ในอัตราหุ้นละ 3 บาท โดยแบ่งเป็น เงินปันผลระหว่างกาลหุ้นละ 1.20 บาท ซึ่งคณะกรรมการบริษัทฯ ได้อนุมัติและจ่ายไปแล้ว เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2563 คงเหลือเงินปันผลที่ TCAP จะต้องจ่ายอีกในอัตราหุ้นละ 1.80 บาท รวมเป็นจำนวน 3.00 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นอัตราที่เท่ากับเงินปันผลของปีก่อนที่ไม่รวมเงินปันผลพิเศษ

สรุปคำถามคำตอบการประชุมนักวิเคราะห์สำหรับไตรมาส 3 ปี 2563

บริษัทฯ มีแผนการเติบโตของปี 2564 อย่างไร

บริษัทฯ ยังมีเงินสดคงเหลือจากการปรับโครงสร้างกิจการและการรวมกิจการระหว่างธนาคารทหารไทยและธนาคารธนชาต ซึ่งบริษัทฯ ได้แจ้งให้ทราบว่าจะใช้เงินสดคงเหลือดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ถือหุ้น เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลให้มีความไม่แน่นอนในการลงทุน คณะกรรมการจึงมีนโยบายในการดำรงเงินสดสภาพคล่องไว้ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับบริษัทย่อย ในขณะนี้บริษัทฯ มีแผนในการทำธุรกิจการเงินใหม่ๆอยู่ และอยู่ระหว่างการเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาอนุมัติ ซึ่งหากได้รับอนุมัติแล้วจะกลับมาเรียนแจ้งให้ทราบในวาระถัดไป ส่วนแผนการลงทุนนั้นกำลังรอโอกาสที่เหมาะสม ต้องมีการประเมินสถานการณ์แนวโน้มการแพร่ระบาดของ COVID-19 และประสิทธิภาพของวัคซีน รวมไปถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ สำหรับธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ บริษัทฯ กำลังรอดูโอกาสที่เหมาะสมในการลงทุนเพิ่มเติม เช่นเดียวกัน


อยากทราบนโยบายการตั้งสำรองเงินให้สินเชื่อ

บริษัทร่วมและบริษัทย่อยที่ต้องมีการตั้งสำรองหลักๆ มีอยู่ 2 บริษัท คือ บมจ. ราชธานีลิสซิ่ง (THANI) และ บมจ. ธนาคารทหารไทย (TMB) ซึ่งทั้ง 2 บริษัทมีการตั้งสำรองเงินให้สินเชื่อเป็นไปตามมาตรฐานบัญชี TFRS 9


นโยบายการจ่ายเงินปันผลของบริษัทฯ ในปี 2563 เป็นอย่างไร

บริษัทฯ มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลแบบ Progressive กล่าวคือ จำนวนเงินปันผลต่อหุ้นที่จ่ายจะไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา โดยคำนึงถึงผลประกอบการควบคู่กันไป ซึ่งในอดีตบริษัทฯ จ่ายเงินปันผลเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับปีนี้ บริษัทฯ ยังคงนโยบายการจ่ายปันผลเช่นเดิม โดยในครึ่งปีแรกบริษัทฯ ได้ประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในอัตราหุ้นละ 1.20 บาท ซึ่งเท่ากับอัตราเงินปันผลระหว่างกาลที่จ่ายของปีก่อน

สรุปคำถามคำตอบการประชุมนักวิเคราะห์สำหรับไตรมาส 2 ปี 2563

ปัจจุบัน บริษัทฯ มีเงินสดคงเหลืออยู่ประมาณเท่าไหร่ และมีแผนในการใช้เงินสดคงเหลืออย่างไร

บริษัทฯ ยังมีเงินสดคงเหลืออยู่ประมาณ 15,000-16,000 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลให้มีความไม่แน่นอนในการลงทุน คณะกรรมการจึงมีนโยบายในการดำรงเงินสดสภาพคล่องไว้ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับบริษัทย่อย ส่วนแผนการลงทุนนั้นกำลังรอโอกาสที่เหมาะสม ซึ่งคาดว่าจะเห็นผลกระทบของ COVID-19 ได้ชัดเจนขึ้นในช่วงไตรมาส 3 และ ไตรมาส 4 ของปีนี้ สำหรับธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ คาดว่าช่วงปลายปี ธนาคารพาณิชย์จะทยอยขายออกมา ซึ่งก็เป็นจังหวะที่บริษัทฯ จะเข้าไปดำเนินการซื้อสินทรัพย์ดังกล่าวเข้ามาบริหาร


อยากทราบแนวโน้มผลการดำเนินงานครึ่งปีหลังของบริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) รวมถึงสถานการณ์ NPLs

ธุรกิจประกันภัย โดยภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ถึงแม้ว่ายอดขายรถยนต์ใหม่จะลดลง แต่ความต้องการรถยนต์เก่าปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้เบี้ยประกันภัยจากรถยนต์เก่ามีเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน อัตราการต่ออายุเบี้ยประกันภัยรถยนต์ผ่านช่องทาง Telesales ยังอยู่ในเกณฑ์ดี นอกจากนี้ยังขยายไปยังช่องทาง Non-bank ซึ่งสามารถเติบโตได้เป็นอย่างดี

สำหรับ THANI นั้นได้รับผลกระทบบ้างจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่จำนวนลูกค้าที่ขอพักชำระหนี้มีไม่มาก เนื่องจาก THANI มีลูกค้าที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยวน้อยมาก เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นรถบรรทุกขนส่งสินค้า สำหรับสถานการณ์ NPLs นั้น ยังอยู่ในสถานะที่ควบคุมได้ เนื่องจาก THANI มีความระมัดระวังและเข้มงวดมากขึ้นในการขยายธุรกิจ


นโยบายการจ่ายเงินปันผลของบริษัทฯ ในปี 2563 เป็นอย่างไร

บริษัทฯ มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลแบบ Progressive กล่าวคือ จำนวนเงินปันผลต่อหุ้นที่จ่ายจะไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งในอดีตบริษัทฯ จ่ายเงินปันผลเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับปีนี้ บริษัทฯ ยังคงนโยบายการจ่ายปันผลเช่นเดิม โดยในครึ่งปีแรกบริษัทฯ ได้ประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในอัตราหุ้นละ 1.20 บาท ซึ่งเท่ากับอัตราเงินปันผลระหว่างกาลที่จ่ายของปีก่อน

สรุปคำถามคำตอบการประชุมนักวิเคราะห์สำหรับไตรมาส 1 ปี 2563

ตามที่บริษัทฯชี้แจงว่าปัจจุบันบริษัทฯมีเงินสดคงเหลืออยู่ประมาณ 15,000 ล้านบาท บริษัทฯมีแผน ที่จะใช้เงินดังกล่าวอย่างไร บริษัทจะจ่ายเงินปันผลพิเศษ หรือบริษัทฯจะซื้อหุ้นคืนเพิ่มเติมหรือไม่ อย่างไร

ปัจจุบันบริษัทฯซื้อหุ้นคืนครบเต็มจำนวนร้อยละ 10 ของทุนชำระแล้ว ตามมติคณะกรรมการ ดังนั้น การซื้อหุ้นคืนจึงไม่สามารถดำเนินการได้ในขณะนี้ ต้องรอจนกว่าจะครบกำหนด 1 ปี หลังจากที่ปิดโครงการ คณะกรรมการจึงสามารถมีมติซื้อหุ้นคืนได้อีกครั้งหนึ่ง สำหรับเรื่องการจ่ายเงินปันผลพิเศษ คงจะต้องให้คณะกรรมการเป็นผู้พิจารณา ส่วนแผนการลงทุนนั้นขอเวลาศึกษาเรื่องการลงทุนเพิ่มเติม เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลให้มีความไม่แน่นอนในการลงทุน ฝ่ายจัดการจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบต่อไป


ตามที่บริษัทฯได้แจ้งว่า บริษัทฯมีนโยบายที่จะเข้าไปลงทุนเพิ่มในหุ้น TMB จนถึงร้อยละ 22.9 ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุมติ บริษัทฯได้ดำเนินการไปแล้วอย่างไรบ้าง

ปัจจุบัน (ณ วันที่ 29 พฤษภาคม 2563) บริษัทฯ ยังไม่ได้ซื้อหุ้น TMB เพิ่มเติมแต่อย่างใด โดยยังคงถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 20.12


บริษัทฯตั้งเป้าหมายในการซื้อ NPL และ NPA มาบริหารในช่วง 1-2 ปีนี้อย่างไร

เดิมบริษัทฯมีเป้าหมายที่จะทยอยซื้อหนี้ไม่มีหลักประกัน (Unsecured) ซึ่งหนี้ที่ไม่มีหลักประกันจะมีมูลค่าหนี้ไม่สูงมากนัก ดังนั้น จึงใช้เงินจำนวนไม่มาก แต่อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่มีผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ฝ่ายจัดการต้องระมัดระวังมากยิ่งขึ้น จึงทำให้การดำเนินธุรกิจด้านนี้อาจจะต้องชะลอไปก่อน


นโยบายการจ่ายเงินปันผลของบริษัทฯ ในปี 2563 เป็นอย่างไร

บริษัทฯ ยังคงนโยบายการจ่ายเงินปันผลแบบ Progressive กล่าวคือ จำนวนเงินปันผลต่อหุ้นที่จ่ายในปีนี้จะไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งปีที่ผ่านมาเราจ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานเป็นจำนวน 3.00 บาทต่อหุ้น แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ธุรกิจต่าง ๆ ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะต้องประเมินผลกระทบอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการให้ความสำคัญและดูแลผลประโยชน์ให้กับผู้ถือหุ้นอย่างเต็มความสามารถ


แผนการควบรวมจะเป็นไปตามกำหนดการเดิมหรือไม่ อย่างไร

ตามกฎหมาย การรวมกิจการต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2564 ปัจจุบันได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลการรวมกิจการ และมีการรายงานความคืบหน้าเป็นรายเดือน มีทีมงานจากทั้ง 2 ธนาคาร ร่วมกันทำงานเพื่อให้มั่นใจได้ว่า การรวมกิจการนั้นจะสำเร็จลุล่วงได้ภายในปี 2564 ซึ่งปัจจุบันการรวมกิจการดังกล่าวยังเป็นไปตามแผนที่วางไว้เดิมโดยจะแล้วเสร็จกลางปี 2564


แนวโน้มกำไรในไตรมาส 2 และครึ่งปีหลังของปี 2563 เป็นอย่างไร

ผลการดำเนินของหลักทรัพย์ธนชาต (TNS) ยังเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ส่วนธนชาตประกันภัย (TNI) ผลการดำเนินงานต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้เล็กน้อย เนื่องจากค่าเบี้ยประกันภัยลดลงจากยอดขายรถยนต์ที่ปรับตัวลดลง ซึ่ง TNI ได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มารองรับเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าและลดผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 สำหรับ THANI ได้รับผลกระทบจากสินเชื่อเช่าซื้อรถที่มีความต้องการลดลง ประกอบการกับ THANI ได้เพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ส่งผลให้สินเชื่อเติบโต ต่ำกว่าเป้าหมายแต่ THANI สามารถควบคุมผลกระทบให้อยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้


ตามที่บริษัทฯ เป็นถือหุ้นใหญ่ของ THANI และ THANI ได้ประกาศเพิ่มทุน นักวิเคราะห์จึงมีคำถามดังนี้

วัตถุประสงค์การเพิ่มทุนของ THANI

  1. เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงแข็งแกร่งด้านเงินทุน และบริหารโครงสร้างทางการเงินให้อยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม
  2. เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ถือหุ้น นักลงทุน เจ้าหนี้ และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ถึงสถานะทางการเงินที่มั่นคงแข็งแกร่งของ THANI ในระยะยาว

โดยหลังจากที่ THANI เพิ่มทุนแล้ว อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E Ratio) จะลดลงมาจาก 5 เท่า เป็นต่ำกว่า 4 เท่า ส่งผลให้บริษัท มีความสามารถในการบริหารจัดการด้านการเงินที่เพิ่มขึ้น

TCAP จะซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ THANI เกินสิทธิทั้งหมดหรือไม่ ในกรณีที่ไม่มีผู้ถือหุ้นอื่นซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ THANI เลย

TCAP สามารถลงทุนใน THANI ไปจนถึงร้อยละ 65 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ยังไม่ต้องทำ Tender Offer แต่อย่างไรก็ตามหากมีผู้ถือหุ้นอื่นไม่ซื้อและสัดส่วนการถือหุ้นของ TCAP ใน THANI เพิ่มขึ้นไปถึงระดับที่ต้องทำ Tender Offer ฝ่ายจัดการต้องขอไปศึกษาในรายละเอียดเพิ่มเติม และTCAP เชื่อว่าการเพิ่มทุนครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ถือหุ้นของ THANI ทุกราย

สรุปคำถามคำตอบการประชุมนักวิเคราะห์สำหรับปี 2562

ปัจจุบัน TCAP เป็น Holding Company ที่ลงทุนในธุรกิจการเงิน และธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ และ TCAP ยังมีเงินสดเหลืออยู่อีกจำนวนหนึ่ง อยากทราบว่าจะนำเงินสดคงเหลือไปใช้อย่างไร

บริษัทฯ มีนโยบายที่จะขยายธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพไปในด้านการซื้อหนี้ NPL รายย่อยที่ไม่มีหลักประกันมาบริหาร ซึ่งจะทยอยซื้อเข้ามาบริหารจัดการตามความเหมาะสม และต้องมีการลงทุนในระบบที่เหมาะกับการแก้หนี้สำหรับลูกหนี้รายย่อยเนื่องจากระบบที่บริษัทฯ ใช้งานอยู่ขณะนี้ เป็นระบบที่เหมาะกับการแก้หนี้สำหรับลูกหนี้ธุรกิจ ส่วนเงินสดที่เหลือจากการซื้อหนี้รายย่อยมาบริหาร บริษัทฯ จะพิจารณานำไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสมให้กับผู้ถือหุ้นต่อไป

สำหรับแผนการบริหารเงินสดที่ดำเนินการไปแล้วนั้น มี 2 รายการ รายการแรกเป็นการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลเป็นเงินปันผลพิเศษในอัตราหุ้นละ 4 บาท ซึ่งเป็นเงินทั้งสิ้น 4,583 ล้าน และรายการที่สองคือการซื้อหุ้นคืนในวงเงินไม่เกิน 6,000 ล้านบาท


เงินลงทุนใน TMB ที่ TCAP ซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ TMB ในราคา 1.1 เท่าของมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น อยากทราบว่าปัจจุบันราคาหุ้น TMB ลดลงมาค่อนข้างมาก TCAP จำเป็นต้อง Mark to Market และรับรู้ในงบกำไรขาดทุนของ TCAP หรือไม่ อย่างไร

เนื่องจาก TCAP ถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 20 ใน TMB ดังนั้น เงินลงทุนใน TMB จึงเป็นเงินลงทุนในบริษัทร่วม ไม่มีการ Mark to Market และรับรู้กำไร/ขาดทุน ของ TMB ในรายการส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมตามวิธีส่วนได้เสีย


อยากทราบว่านโยบายการจ่ายเงินปันผลในอนาคตเป็นอย่างไร

เรายังคงนโยบายการจ่ายเงินปันผลแบบ Progressive กล่าวคือ จำนวนเงินปันผลต่อหุ้นที่จ่ายในปีนี้จะไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา โดยพิจารณาถึงความสามารถในการจ่ายเงินปันผลในอนาคต


สินเชื่อเช่าซื้อของ Merged Bank (TMB Thanachart) กับ THANI มีความทับซ้อนกันหรือไม่ อย่างไร

ผลิตภัณฑ์เช่าซื้อของ Merged Bank จะมีสินเชื่อรถยนต์ใหม่ รถยนต์ใช้แล้ว รถแลกเงิน และจำนำทะเบียน ส่วน THANI ผลิตภัณฑ์หลักคือสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุก รถจักรยานยนต์ Big Bike และ รถสปอร์ต Super Car ดังนั้นจึงไม่ทับซ้อนกัน

สรุปคำถามคำตอบการประชุมนักวิเคราะห์สำหรับไตรมาส 3 ปี 2562

ในไตรมาส 3 ปี 2562 ที่ผ่านมา สินเชื่อด้อยคุณภาพปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสาเหตุใด

สินเชื่อด้อยคุณภาพที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกิดจากสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่กลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นลูกหนีที่อยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการ เกิดปัญหาขัดข้องบางประการในการปฎิบัติตามแผน จึงทำให้ถูกปรับลดชั้นลงไปเป็น NPL แต่เนื่องจากธนาคารได้ ทำการตั้งสำรองเต็มจำนวนไปแล้ว จึงไม่มีผลกระทบให้ธนาคารต้องดำเนินการตั้งสำรองเพิ่มเติมในขณะนี้ ลูกหนี้ กลุ่มดังกล่าวอยู่ระหว่างการดำเนินการปรับแผนและหากแผนที่ปรับได้รับการอนุมัติลูกหนี้กลุ่มนี้ก็จะกลับมาเป็น ลูกหนี้จัดชั้นปกติดตามเดิม NPL ก็จะปรับลดลงในอนาคต


อยากทราบมุมมองเกี่ยวกับตลาดรถยนต์ในไตรมาส 4 ปี 2562

ไตรมาส 4 จะเป็นช่วงที่ยอดขายรถยนต์ปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากมีงาน Motor Expo ซึ่งคาดว่ายอดขายรถยนต์น่าจะ เติบโตกว่าในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา แต่อาจจะไม่เติบโตมากนักเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปีก่อนเนื่องจากฐานของ ไตรมาส 4 ปีก่อนค่อนข้างสูง สำหรับรถยนต์ใช้แล้วปัจจุบันมีแนวโน้มปรับตัวลดลงเนื้องจากภาวะเศรษฐกิจที่ ชะลอตัว ส่งผลให้ความต้องการรถยนต์ใช้แล้วชะลอลง ประกอบกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ลดลง ส่งผลให้รถยึดมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอีกทั้ง เต็นท์รถก็ประมูลรถยึดลดลง ทำให้ผู้ประกอบการเช่าซื้อมีขาดทุนรถยึด เพิ่มสูงขึ้น สำหรับการบริหารจัดการเรื่องนี้ ธนาคารมีการจัดประเภทลูกค้า มีการ Focus ไปยังกลุ่มลูกค้าที่มี ศักยภาพสูง ทำให้ธนาคารยังคงสามารถควบคุมคุณภาพสินเชื่อเช่าซื้อได้เป็นอย่างดี และมีอัตราการเติบโตของ สินเชื่อเช่าซื้อได้พอสมควร อีกทั้งในด้านของการบริหารติดตามหนี้ธนาคารก็มีการบริหารอย่างเป็นระบบ และมี ประสิทธิภาพด้วยการศึกษาข้อมูลต่าง ๆ อย่างรอบด้านรวมถึงมีการประชุมร่วมกันของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อรับทราบปัญหาและหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน


อยากทราบว่า TBANK มีการตั้งสำรองตามเกณฑ์ IFRS9 เพียงพอแล้วหรือไม่อย่างไร และมีนโยบายการตั้ง สำรองภายหลังจากที่TMB เข้ามาถือหุ้น TBANK อย่างไร

ปัจจุบันธนาคารมีการตั้งสำรองสูงกว่า Model ของ IFRS9 ซึ่งสำรองส่วนเกินนี้ธนาคารจะนำบางส่วนไปเป็นส่วน ของ Management Overlay ซึ่งไม่สามารถที่จะคลายออกได้ นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีหลักเกณฑ์ เรื่อง Provision Floor ซึ่งภายใน 3 ปี ทุกธนาคารจะต้องมีสำรองในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 1 ของสินเชื่อที่ไม่ด้อย คุณภาพและเงินลงทุน โดยกำหนดไว้ว่าปีแรกต้องมีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 0.33 ปีที่ 2 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 0.66 และปีที่ 3 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 1 ซึ่ง ณ ปัจจุบันนี้ ธนาคารมีสำรองสูงกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดีสำหรับนนโยบายใน อนาคตต้องขอเรียนว่า จากนี้ไปจนถึงวันโอนกิจการ(ประมาณกลางปี 2564) TBANK และTMB ก็จะใช้นโยบาย การตั้ง สำรองตาม Model ของแต่ละธนาคารแต่ระหว่างทางก็จะมีการปรับเป็นไปตามขั้น ตอนจนถึงวันที่รวมกิจการ กันเป็นธนาคารเดียว ซึ่งตอนนั้นก็จะมีนโยบายการตั้งสำรองเดียวกันในที่สุด


ในอนาคตหลังจากการปรับโครงสร้างธุรกิจและการซื้อ-ขายหุ้น TBANK และTMB เสร็จสิ้น มีคำถามดังนี้
  • TCAP ต้องดำรงความเพียงพอของเงินกองทุนหรือไม่ อย่างไร
    ในอนาคต TCAP ไม่ต้องดำรงความเพียงพอของเงินกองทุน เนื่องจาก TCAP จะไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแล จากธนาคารแห่งประเทศไทย ดังนั้น อัตราส่วนที่ TCAP ต้องพิจารณาควรจะเป็น อัตราหนีสิ้นต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E Ratio) เป็นหลัก
  • D/E Ratio จะอยู่ในระดับที่เท่าไหร่
    D/E Ratio ในปัจจุบันตามงบการเงินเฉพาะกิจการของ TCAP อยู่ที่ประมาณ 0.5 เท่า แต่ภายหลังจากการปรับ โครงสร้างธุรกิจและการซื้อ - ขายหุ้น TBANK และ TMB เสร็จสิ้น D/E Ratio จะลดลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ประมาณ 0.2 เท่า และคาดว่าจะอยู่ในระดับนี้ต่อไป อย่างไรก็ตาม หากมีโครงการลงทุนที่เหมาะสมซึ่งเป็น ประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น ฝ่ายจัดการอาจพิจารณาออกหุ้นกู้เพิ่มเติม เพื่อนำเงินมาลงทุนได้
  • ขอบเขตในการดำเนินธุรกิจในอนาคต
    ในอนาคต TCAP จะ Focus ในสินทรัพย์ที่ TCAP ลงทุน ซึ่งสินทรัพย์หลักก็คือเงินลงทุนใน TMB ที่ถือหุ้น TBANK (หรือหลังจากนั้น จะกลายเป็นธนาคารใหม่ภายหลังรวมกิจการ) เพื่อให้เกิด Synergy ตามที่ ตั้งเป้าหมายไว้ อีกส่วนก็ต้องมา Focus ที่ ธนชาตประกันภัย หลักทรัพย์ธนชาต การบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ และตามที่เคยเปิดเผยสารสนเทศต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไปแล้วว่า ภายหลังจากการ ดำเนินการปรับโครงสร้างธุรกิจ และซื้อ - ขายหุ้น TBANK และ TMB เสร็จสิ้น TCAP จะมีเงินสดคงเหลือสุทธิอยู่ ประมาณ 10,000 ล้านบาท คณะกรรมการได้มีมติกำหนดแนวทางการบริหารสภาพคล่องดังกล่าวด้วยการ ประกาศโครงการซื้อ หุ้นคืนในวงเงินไม่เกิน 5,000 ล้านบาท และจ่ายเงินปันผลพิเศษ 4.00 บาทต่อหุ้น แต่ อย่างไรก็ตาม TCAP จะยังมี Cash Flow จากการดำเนินธุรกิจตามปกติ และการขายเงินลงทุนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ เงินลงทุนหลักออกไป ซึ่งเป็น Cash Flow ที่จะทยอยเข้ามาภายใน 1 - 2 ปีข้างหน้า มูลค่ารวมกันประมาณ 8,000 - 10,000 ล้านบาท แนวทางในการบริหาร Cash Flow ดังกล่าว ฝ่ายจัดการจะเน้นการลงทุนในธุรกิจที่ TCAP ถนัด และมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี ซึ่งขณะนียั้งอยู่ในขัน้ ตอนการศึกษาความเป็นไปได้อยู่
  • หุ้น TCAP จะทำการซื้อขายในหมวดไหน
    หุ้น TCAP จะยังคงซื้อ ขายอยู่ในหมวดธนาคารเช่นเดิม เนื่องจากรายได้หลักของ TCAP ยังมาจากธุรกิจ ธนาคารที่ TCAP จะเข้าไปถือหุ้นมากกว่าร้อยละ 20
สรุปคำถามคำตอบการประชุมนักวิเคราะห์สำหรับไตรมาส 2 ปี 2562

ขอทราบความคืบหน้าของมาตราการควบคุมสินเชื่อรถยนต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าจะมีการกำหนดเงินดาวน์ขั้นต่ำเป็นเท่าไหร่ หรือกำหนดสัดส่วนภาระหนี้สินต่อรายได้ (DSR) เป็นเท่าไหร่ หรือไม่อย่างไร และธนาคารมีการเตรียมตัวอย่างไร

ธนาคารเชื่อว่าการกำหนดมาตรการในการควบคุมสินเชื่อรถยนต์ เป็นเรื่องที่ดีที่ ธปท. จะเข้ามาควบคุม เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้กับระบบธนาคารพาณิชย์ แต่อย่างไรก็ตาม ธนาคารคาดว่า มาตรการที่จะออกมาจะเป็นมาตรการเชิงนโยบายที่ดูแลการปล่อยสินเชื่อให้แต่ละธนาคารมีการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Lending) เพื่อให้การทำธุรกิจของธนาคารพาณิชย์เป็นธุรกิจธนาคารที่ยั่งยืน (Sustainable Banking) สำหรับการบริหารความเสี่ยงในเรื่องนี้ธนาคารมีการดำเนินการอย่างรัดกุม โดยการปล่อยสินเชื่อนั้น จะพิจารณาตาม Credit Scoring ของลูกค้าเป็นหลัก หากลูกค้ามี Credit Scoring ต่ำ ก็จะได้ LTV ต่ำ หรือถ้า Credit Scoring สูง LTV ก็จะสูง แต่โดยเฉลี่ยแล้ว LTV ของธนาคารจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 80-90 ในขณะที่การพิจารณาเรื่อง DSR ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน หากลูกค้ามี Credit Scoring สูง DSR ก็จะสูงตามไปด้วย


ในไตรมาส 2 ปี 2562 ธนาคารมี Credit Cost ที่ค่อนข้างต่ำ อยากทราบว่าเกิดจากสาเหตุใด และครึ่งหลังของปี Credit Cost จะอยู่ในระดับใด

ธนาคารได้มีการประเมินและทบทวนการตั้งสำรองของลูกค้าธนาคารทั้งหมดมาอย่างต่อเนื่อง และพบว่ามีลูกค้าบางกลุ่มที่ธนาคารมีความเชื่อมั่นว่ามีศักยภาพในการชำระหนี้สูง ธนาคารจึงมีการคลายสำรองออกมาบางส่วน ส่งผลให้ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา Credit Cost ของธนาคารจึงอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ สำหรับ ในครึ่งหลังของปี 2562 Credit Cost ของธนาคารจะอยู่ประมาณร้อยละ 0.6 – 0.7 ตามกรอบที่วางไว้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 มีความเปราะบาง ในขณะที่ธนาคารเน้นการปล่อยสินเชื่อรายย่อย ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจ อาจจะส่งผลให้การตั้งสำรองของธนาคารเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อยจากระดับปัจจุบัน

สรุปคำถามคำตอบการประชุมนักวิเคราะห์สำหรับไตรมาส 1 ปี 2562

เนื่องจากในไตรมาส 1 ที่ผ่านมาต้นทุนทางการเงิน (Cost of Fund) ปรับเพิ่มขึ้น จึงขอทราบถึงแนวโน้มของต้นทุนทางการเงินในปีนี้

ธนาคารมองว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดปีนี้มีแนวโน้มคงที่ ส่วนสาเหตุที่ต้นทุนทางการเงินปรับเพิ่มขึ้นใน ไตรมาส 1 ที่ผ่านมาเป็นผลกระทบของการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) เมื่อปลายปี 2561 ซึ่งหากอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มคงที่ ธนาคารคาดว่าจะสามารถบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินของธนาคารให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมาได้


อยากทราบว่า Credit Cost มีแนวโน้มที่จะดีกว่าเป้าหมายหรือไม่

Credit Cost ของธนาคารในไตรมาส 1 ที่ผ่านมาอยู๋ที่ร้อยละ 0.47 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายของปีนี้ที่ร้อยละ 0.60-0.70 เนื่องจากบริษัทย่อยของธนาคารมีการปรับสำรองบางรายการออกไปจึงเห็นว่า Credit Cost ค่อนข้างต่ำ แต่หากไม่รวมรายการพิเศษดังกล่าว Credit Cost ของธนาคารจะอยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับเป้าหมาย และคาดว่าทั้งปี 2562 ธนาคารจะรักษาระดับ Credit Cost ให้เป็นไปตามเป้าหมายได้


ขอสอบถามถึงสถานการณ์ของสินเชื่อเงินทอนรถยนต์ ขณะนี้มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง

เนื่องจากการแข่งขันกันของผู้ประกอบการบางรายที่ปล่อยสินเชื่อ LTV เกินร้อยละ 100 เพื่อให้ได้ลูกค้าเพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นในหลายธุรกิจไม่เฉพาะแค่สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เพียงอย่างเดียว ที่ผ่านมา ธปท.ได้ออกมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยไปแล้ว โดยมีผลเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2562 ในส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อ ธนาคารได้มีการหารือกับ ธปท. ไปแล้วแต่ยังไม่ทราบว่า ธปท. จะมีมาตรการอะไรออกมาเพื่อควบคุมหรือไม่ ในขณะที่ธนาคารมีการบริหารความเสี่ยงในเรื่องนี้อย่างรัดกุม โดยการปล่อยสินเชื่อนั้น ธนาคารจะพิจารณาตาม Credit Rating ของลูกค้าเป็นหลัก หากลูกค้ามี Credit Rating ต่ำ ก็จะได้ LTV ต่ำ หรือถ้า Credit Rating ดี LTV ก็จะสูง แต่โดยเฉลี่ยแล้ว LTV ของธนาคารจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 80-90

สรุปคำถาม-คำตอบจากการประชุมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ไตรมาส 4 ปี 2561

ปีที่ผ่านมาธนาคารมีการเติบโตของสินเชื่อได้ดี ซึ่งเกิดจากการเติบโตของสินเชื่อเช่าซื้อ อยากทราบมุมมองของธนาคาร ในการเติบโตของสินเชื่อเช่าซื้อในปี 2562

ธนาคารคาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ใหม่จะเติบโตในปีนี้ร้อยละ 2-3 การดำเนินกลยุทธ์สำหรับสินเชื่อรถยนต์ใหม่ ธนาคารจะเน้นที่การเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด จากความแข็งแกร่งของทีมขายของธนาคารที่ครอบคลุมทั่วประเทศ สำหรับสินเชื่อรถยนต์เก่า ธนาคารจะใช้วิธีการ Focus and Select โดยการคัดกรองเต๊นท์รถยนต์มือสองที่มีคุณภาพหนี้ที่ดี มีมาตรฐาน มีการการันตีคุณภาพรถ ในขณะที่สินเชื่อรถแลกเงิน (Cash Your Car: CYC) ในปีนี้ก็จะทำตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะสามารถที่จะเติบโตได้ดีต่อเนื่อง อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ คือสินเชื่อเล่มแลกเงิน (Cash Your Book: CYB) เป็นสินเชื่อใหม่ที่ธนาคารเริ่มเปิดตัวเมื่อกลางปีที่แล้ว ซึ่งออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย โดยยึดความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ ทั้งหมด นี้ส่งผลให้สินเชื่อเช่าซื้อของธนาคารตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มได้เป็นอย่างดี


อยากทราบถึงความเสี่ยงด้านเครดิตของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์

สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของธนาคารมีความเสี่ยงด้านเครดิตที่ค่อนข้างต่ำ โดยธนาคารให้ความสำคัญในเรื่อง Scoring ของลูกค้า มีการพัฒนา Scoring Model อย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งกระบวนการอนุมัติสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพ การติดตามหนี้อย่างใกล้ชิด ส่งผลให้ NPL ของสินเชื่อเช่าซื้ออยู่ในระดับต่ำ


ในปีนี้ธนาคารจะมีภาระภาษีในอัตราปกติ (ร้อยละ 20) เต็มปี ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของธนาคาร อยากทราบว่าธนาคารมีแนวทางในการดำเนินการอย่างไรเพื่อให้ผลประกอบการของธนาคารเติบโตขึ้น เช่น การลด Credit Cost ลงจากเป้าที่ธนาคารเคยให้ไว้ว่า Credit Cost จะอยู่ที่ราวร้อยละ 0.6-0.7

ธนาคารมีการเตรียมการสำหรับเรื่องนี้มาโดยตลอด โดยหากพิจารณาผลประกอบการของธนาคารในปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าธนาคารมีกำไรก่อนภาษีเพิ่มขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของการดำเนินธุรกิจและการเติบโตของธุรกิจหลักของธนาคาร สำหรับปีนี้ ธนาคารคาดการณ์ว่าจากการเติบโตของสินเชื่อ จะส่งผลให้ธนาคารมีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นทั้งรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ซึ่งกำไรก่อนภาษีของธนาคารจะเติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนเรื่องของ Credit Cost นั้นธนาคารคาดว่า Credit Cost ในปีนี้จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 0.6-0.7 ตามที่เคยได้ให้ข้อมูลไว้


Coverage Ratio ของธนาคารเริ่มปรับตัวลดลง ในขณะที่ Reserve to Required Reserve ก็ปรับตัวลดลง เช่นกัน อยากทราบความเห็นของธนาคารในเรื่องนี้

การตั้งสำรองของธนาคารในปัจจุบัน ธนาคารใช้ Model ที่คาดการณ์ไปในอนาคตถึงความเสียหายต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss) สำหรับการตั้งสำรองตามมาตรฐานรายงานการเงิน IFRS 9 ตามการคาดการณ์ธนาคารมีการตั้งสำรองที่เพียงพอ ดังนั้น Coverage Ratio ที่ระดับปัจจุบันของธนาคารยังอยู่ในระดับที่เพียงพอ

สรุปคำถาม-คำตอบจากการประชุมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ไตรมาส 3 ปี 2561

ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารมีการเติบโตของสินเชื่อเช่าซื้อมาก แต่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้น อยากทราบว่าธนาคารมีวิธีการบริหารจัดการอย่างไร

ที่ผ่านมามีการขยับเพิ่มดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อขึ้นบ้างเป็นลำดับ ขณะที่ธนาคารมุ่งเน้นเพิ่มขึ้นในการเติบโตของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มือสอง และสินเชื่อรถแลกเงิน (CYC) ในด้านของเงินฝากธนาคารมีการระดมเงินฝากระยะยาวเพิ่มขึ้นเพื่อบริหารจัดการ Duration Mismatch ระหว่างสินเชื่อเช่าซื้อที่เป็นอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่กับเงินรับฝาก ให้เงินรับฝากมีระยะเวลายาวขึ้น ประกอบกับ การทำ Interest Rate Swap ไปบางส่วนตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น


อยากทราบแนวทางการเติบโตของสัดส่วนเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์ (CASA) ต่อเงินฝาก

การเติบโตของ CASA ในส่วนแรก ธนาคารเพิ่มการเติบโตโดยการเชิญชวนลูกค้าที่มีสินเชื่อกับธนาคารให้เปิดบัญชีออมทรัพย์และจ่ายคืนค่างวดด้วยการตัดบัญชีทุกเดือน ซึ่งลูกค้าก็จะได้รับความสะดวกสบายในการชำระเงิน อีกส่วนหนึ่งเป็นลูกค้าที่ไม่ได้มีเงินกู้กับธนาคาร ธนาคารทำการส่งเสริมให้ลูกค้าใช้ Mobile Banking กับธนาคารและใช้เงินฝากออมทรัพย์ Ultra Saving ที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไปในการจูงใจลูกค้าให้ลูกค้าได้เริ่มใช้บริการกับธนาคาร และได้รับประสบการณ์ที่ดีเยี่ยมจากการใช้บริการกับธนาคาร ซึ่งในอนาคต ลูกค้าก็จะเพิ่มการใช้ผลิตภัณฑ์และบริการกับธนาคารมากขึ้น


อยากทราบถึงการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน และแนวโน้มของค่าใช้จ่ายดังกล่าว

ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ธนาคารบริหารจัดการค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานได้เป็นอย่างดี โดยค่าใช้จ่ายดังกล่าวปรับตัวลดลง แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ธนาคารมุ่งเน้นคือการควบคุมอัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานต่อรายได้รวม (Cost to Income Ratio) ซึ่งนอกจากจะควบคุมในด้านค่าใช้จ่ายแล้ว ต้องมองถึงการเพิ่มรายได้ด้วย เพื่อให้ Cost to Income Ratio ลดลงให้อยู่ในระดับใกล้เคียงอุตสาหกรรม ในอดีตที่ผ่านมาเรามีนโยบายควบคุมค่าใช้จ่าย (Zero Growth Operating Expenses) ซึ่งธนาคารก็ทำได้ดีมาโดยตลอด ในขณะที่มีการปรับลดสาขาลงอย่างต่อเนื่อง แต่ท้ายที่สุดแล้วธนาคารต้องมุ่งเน้นในเรื่องของการสร้างรายได้ด้วยการใช้ทรัพยากรต่างๆที่ธนาคารลงทุนไปให้เกิดการสร้างธุรกิจให้มากขึ้น และที่สำคัญคือการลงทุนด้านระบบ Digital ซึ่งธนาคารดำเนินการแตกต่างจากคู่แข่ง เนื่องจากฐานลูกค้าหลักของธนาคารคือลูกค้าสินเชื่อรถยนต์ ธนาคารจึงมุ่งพัฒนาระบบ Digital ให้ตอบโจทย์ลูกค้าหลักของธนาคาร สำหรับแนวโน้มของค่าใช้จ่ายดังกล่าวในไตรมาส 4 น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 เนื่องจากในไตรมาส 4 จะเป็นฤดูที่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนธุรกิจต่างๆ


ในไตรมาสที่ผ่านมา NPL ปรับตัวเพิ่มขึ้นแต่ Coverage Ratio ปรับตัวลดลงเล็กน้อยในขณะที่อัตราส่วนสำรองต่อสำรองพึงกันตามเกณฑ์ ธปท. ยังอยู่ในระดับสูง อยากทราบถึงแนวทางในการบริหารจัดการอัตราส่วนต่างๆ ดังกล่าว

การที่ NPL เพิ่มขึ้นแต่ Coverage Ratio ปรับลดลงเพียงเล็กน้อยนั้น เนื่องจาก NPL ที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 3 ที่ผ่านมาเป็น NPL ที่เกิดจากสินเชื่อที่มีหลักประกัน ดังนั้นธนาคารจึงไม่ต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้น สำหรับการบริหารจัดการเรื่อง Coverage Ratio นั้น ธนาคารจะเทียบกับอุตสาหกรรมเป็นหลัก ประกอบกับการตั้งสำรองของธนาคารนั้นจะใช้ Model ที่คาดการณ์ไปในอนาคตถึงความสูญเสียต่างๆที่เกิดขึ้น (Expected Credit Loss) ว่าธนาคารมีการตั้งสำรองที่เพียงพอหรือไม่ ซึ่งจากการคาดการณ์แล้วธนาคารมีการตั้งสำรองที่เพียงพอ

สรุปคำถาม-คำตอบจากการประชุมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ไตรมาส 2 ปี 2561

แนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อของธนาคารในครึ่งปีหลังเป็นอย่างไร

ในครึ่งปีแรก สินเชื่อเช่าซื้อเติบโตได้ดี โดยเติบโตได้ร้อยละ 5.44 ซึ่งทั้งปีนี้ก็คาดว่าจะเติบโตได้ดีต่อเนื่อง ในขณะ ที่สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อ SME ในครึ่งปีแรกก็เติบโตได้บ้าง ซึ่งคาดว่าทั้งปีก็ยังเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่ สำหรับสินเชื่อ Corporate นั้น อาจจะไม่สามารถเติบโตได้ตามที่ธนาคารคาดการณ์ไว้ เพราะธนาคารค่อนข้าง ระมัดระวังเรื่องความเสี่ยง ประกอบกับบริษัทขนาดใหญ่หลาย ๆ บริษัท หันไประดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้ เพราะดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่ สินเชื่อของลูกค้าบริษัทขนาดใหญ่ มีอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างต่ำ ธนาคารจึงนำสินเชื่อของลูกค้าบางส่วนมาออกเป็น ตราสารพาณิชย์ (Commercial Paper) แล้วขายออกไป ซึ่ง จะทำให้ธนาคารได้รับค่าธรรมเนียมจากการดำเนินการดังกล่าว โดยรวมแล้วทั้งปีก็ยังคาดว่าสินเชื่อจะเติบโตได้ ที่ร้อยละ 5.00 ตามเป้าหมาย


ธนาคารมีนโยบายการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยอย่างไร เนื่องจากสินเชื่อเช่าซื้อ เติบโตได้เป็นอย่างดี ซึ่งธนาคารคิดอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยในตลาดมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น

ธนาคารคิดอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อตามความเสี่ยงของลูกค้าเป็นหลัก และที่ผ่านมาธนาคารก็มีการปรับเพิ่มอัตรา ดอกเบี้ยที่เป็นอัตราพิเศษ (Special Rate) ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างต่ำไปแล้ว ประกอบกับธนาคารได้มี การทยอยปรับโครงสร้างพอร์ตของสินเชื่อเช่าซื้อโดยมุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อรถยนต์เก่า สินเชื่อรถแลกเงิน และ สินเชื่อเล่มแลกเงิน เพิ่มขึ้น ซึ่งสินเชื่อเหล่านีมี้อัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าสินเชื่อรถยนต์ใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้อัตรา ดอกเบี้ยของสินเชื่อเช่าซื้อโดยรวมปรับเพิ่มขึ้น ประกอบกับ การทำ Interest Rate Swap ไปบางส่วนตั้งแต่ปีที่ ผ่านมา อีกทั้งการเพิ่มเงินฝากระยะยาว ซึ่งทั้งหมดนีก็เป็นการลดความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยในภาวะที่อัตรา ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น


ธนาคารมีเป้าหมายที่จะมี Coverage Ratio ที่ร้อยละเท่าใด เพราะในระดับปัจจุบันมองว่าเป็นระดับที่ ค่อนข้างสูง เนื่องจากสินเชื่อเกินกว่าร้อยละ 50 เป็นสินเชื่อเช่าซื้อที่มีรถยนต์เป็นหลักทรัพย์คํ้าประกัน

ธนาคารมีนโยบายการดำรง Coverage Ratio ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบัน ธนาคารมี Coverage Ratio อยู่ที่ร้อยละ 132.34 ในขณะที่ การตั้งสำรองสินเชื่อเช่าซื้อนั้น ธนาคารใช้วิธี Collective Approach ซึ่งครอบคลุมโอกาสที่สินเชื่อจะมีคุณภาพลดลงในอนาคต อีกทั้งสินเชื่อเช่าซื้อยังมีรถยนต์เป็น หลักประกัน ซึ่งระดับของ Coverage Ratio ที่เพียงพอสำหรับธนาคารนั้นอาจจะอยู่ในระดับที่น้อยกว่าที่เป็นอยู่ ในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม การที่ธนาคารมี Coverage Ratio ที่สูงกว่าระดับที่เพียงพอก็เพื่อป้องกันความเสี่ยง และความผันผวนต่าง ๆ ในการดำเนินธุรกิจของธนาคาร ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต


ผลประโยชน์ทางภาษีที่หมดไป จะส่งผลให้ในครึ่งปี หลังธนาคารต้องจ่ายภาษีในอัตราร้อยละ 20 หรือไม่

ผลประโยชน์ทางภาษีที่หมดไป ส่งผลให้ในครึ่งปีหลัง ธนาคารมีอัตราภาษีจ่ายเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 แต่อย่างไร ก็ตาม หากพิจารณาผลประกอบการของธนาคาร จะเห็นได้ว่าธนาคารมีกำไรก่อนภาษีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของการดำเนินธุรกิจและการเติบโตของธุรกิจหลักของธนาคาร


การที่ บมจ. ทุนธนชาต (TCAP) ประกาศโครงการซื้อหุ้นคืน ส่งผลกระทบอย่างไรกับ Tier I ของ TCAP

โครงการซื้อหุ้นคืนที่เพิ่งประกาศไปนั้น มีวงเงินที่จะซื้อประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งส่งผลกระทบให้ Tier I ลดลง เล็กน้อย และในขณะนี้ Tier I ของ TCAP ตามงบการเงินรวมอยู่ที่ร้อยละ 12.61 ซึ่งเป็นระดับที่ค่อนข้างสูงในแง่ ของบริษัทแม่ของสถาบันการเงิน ดังนั้น ฝ่ายจัดการมองว่า โครงการซื้อหุ้นคืนคงไม่ส่งผลกระทบในแง่ลบต่อ ฐานะทางการเงิน แต่น่าจะส่งผลในแง่บวกต่อราคาหุ้น

สรุปคำถาม-คำตอบจากการประชุมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ไตรมาส 1 ปี 2561

ธนาคารมีแผนการเติบโตรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอย่างไรบ้าง

ธนาคารยังคงให้ความสำคัญในการเติบโตรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย โดยเฉพาะการมุ่งเน้นการเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมในทุกกลุ่มธุรกิจของธนาคารอย่างต่อเนื่อง ทั้งธุรกิจจัดการกองทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจประกัน


ธนาคารคาดว่า Credit Cost เป็นอย่างไร

ธนาคารยังคงควบคุมการบริหารจัดการสินเชื่อด้อยคุณภาพอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด มุ่งเน้นในการวิเคราะห์คุณภาพของลูกหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ส่งผลให้ Credit Cost ของธนาคารมีแนวโน้มปรับลดลง


ธนาคารมีแผนในการเติบโตสินเชื่ออย่างไรบ้าง

ธนาคารได้มุ่งเน้นการขยายตัวในสินเชื่อรายย่อยมากขึ้น เนื่องจากธนาคารเล็งเห็นว่าเป็นตลาดที่ยังมีศักยภาพในการเติบโตและธนาคารมีความสามารถในการแข่งขันได้ดี ซึ่งธนาคารคาดว่าสินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อบ้านและสินเชื่อ SME ขนาดเล็ก จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของธนาคารในการเติบโตสินเชื่อ ด้านสินเชื่อเช่าซื้อที่เป็นรถใหม่ ธนาคารยังคงมุ่งเน้นขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนสินเชื่อรถมือสอง ธนาคารจะเพิ่มสัดส่วนมากขึ้น ด้วยการดำเนินกลยุทธ์ในการเป็นพันธมิตรกับเต๊นท์รถ แล้วจึงทำการจัดแบ่งเต๊นท์รถออกเป็นกลุ่มๆให้ชัดเจน เพื่อวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าในแต่ละกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ขณะที่สินเชื่อรถแลกเงิน ธนาคารได้เพิ่มกิจกรรมการทำการตลาดมากขึ้น รวมทั้งธนาคารได้ขยายช่องทางการขายเพิ่มเติมผ่าน telesales อีกด้วย นอกจากนี้ ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ธนาคารได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่สินเชื่อเล่มแลกเงิน คือ การขอสินเชื่อ โดยการจำนำทะเบียนรถยนต์ ซึ่งคาดว่าธนาคารจะได้รับดอกเบี้ยค่อนข้างดี จากการรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ธนาคารคาดว่าอัตราผลตอบแทนสำหรับสินเชื่อเช่าซื้อของธนาคารจะอยู่ในเกณฑ์ดี ท่ามกลางการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ธนาคารสามารถเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดที่มากขึ้น ด้วยการวิเคราะห์ตลาดและลูกค้าอย่างลึกซึ้ง ทั้งนี้ ธนาคารคาดว่าสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยจะเพิ่มขึ้นเป็น 74-75% ใน 3-5 ปีข้างหน้าจากปัจจุบันที่มีอยู่ที่ประมาณ 71-72% ขณะที่สินเชื่อธุรกิจ ธนาคารจะมุ่งเน้นในเรื่องการเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมให้มากขึ้นผ่านการทำธุรกิจวาณิชธนกิจ


ธนาคารมีแผนการเติบโตของเงินฝากอย่างไรบ้าง

ธนาคารได้ให้ความสำคัญในการแบ่งกลุ่มลูกค้าแต่ละกลุ่มให้ชัดเจน เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางด้านเงินฝากให้มีความหลากหลายและตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าในทุกกลุ่มให้มากที่สุด รวมทั้งธนาคารได้เพิ่มการทำโฆษณาและการตลาดเพื่อเข้าถึงลูกค้าในแต่ละกลุ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ธนาคารมุ่งพัฒนาดิจิตอลแบงกิ้งให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมทางการเงินที่เป็นฟังก์ชั่นพื้นฐานได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ลูกค้าทำธุรกรรมผ่านธนาคารมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตของเงินฝากของธนาคารและยังเพิ่มโอกาสในการขายข้ามผลิตภัณฑ์ได้มากขึ้นอีกด้วย


ธนาคารคาดว่าสินเชื่อด้อยคุณภาพในไตรมาส 2 มีแนวโน้มเป็นอย่างไร

ในไตรมาส 2 สินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาลและการเติบโตของสินเชื่อ ทั้งนี้ ธนาคารคาดว่า NPL Ratio ของปี 2561 จะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า ซึ่งธนาคารได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการติดตามดูแลลูกหนี้อย่างใกล้ชิด และการพิจารณาปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกค้า ส่งผลให้การเก็บชำระหนี้ของลูกหนี้ธนาคารนั้นยังอยู่ภายใต้การควบคุมเป็นอย่างดี


ธนาคารคาดว่า Coverage Ratio จะเป็นอย่างไร

ธนาคารคาดว่า Coverage Ratio ในระดับปัจจุบันนั้น มีความเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคารและรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้


ธนาคารมีแนวทางในการบริหารจัดการสาขาอย่างไรบ้าง

ธนาคารได้เตรียมการเรื่องการบริหารจัดการสาขามาล่วงหน้าแล้วตั้งแต่ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยธนาคารได้พิจารณาถึงความเพียงพอของสาขาในแต่ละพื้นที่ ซึ่งธนาคารได้มุ่งเน้นและให้ความมั่นใจแก่ลูกค้าทุกท่านด้วยการจัดสาขาที่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้าในการเข้าถึงสาขาได้อย่างสะดวก ทั้งนี้ คาดว่าจำนวนสาขาของธนาคารในระดับปัจจุบันนั้นมีความเหมาะสมแล้ว นอกจากนี้ธนาคารได้มุ่งเน้นการพัฒนาบุคคลากรของธนาคารให้มีความรู้ความสามารถเพิ่มมากขึ้น เพื่อยกระดับการบริการและการให้คำแนะนำแก่ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ธนาคารจะมีการดูแลเรื่องการบริหารจัดการสาขาอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา เนื่องจากพฤติกรรมของลูกค้าในแต่ละสาขานั้นมีความแตกต่างกัน อีกทั้งพฤติกรรมของลูกค้าในปัจจุบันมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

สรุปคำถาม-คำตอบจากการประชุมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ไตรมาส 4 ปี 2560

ธนาคารมีแผนการเติบโตสินเชื่อในปี 2561 อย่างไรบ้าง

ธนาคารมุ่งเน้นการเพิ่มสัดส่วนของสินเชื่อรายย่อยมากขึ้น โดยเฉพาะการขยายตัวของสินเชื่อเช่าซื้อทั้งจากรถยนต์ใหม่ รถยนต์เก่า และรถแลกเงิน รวมทั้งสินเชื่อ SME ขนาดเล็ก ซึ่งธนาคารคาดว่าจะได้รับอัตราผลตอบแทนที่ดีและเพิ่มโอกาสในการเป็น Main Bank ของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น นำไปสู่การเติบโตในสัดส่วนของ CASA ที่ดีขึ้น โดยในปีที่ผ่านมานั้น สินเชื่อรายย่อยของธนาคารขยายตัวได้อยู่ในเกณฑ์ดี จากการพัฒนาระบบ Scoring ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและพัฒนากระบวนการในการอนุมัติสินเชื่อให้มีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ด้านสินเชื่อธุรกิจ ธนาคารจะมุ่งเน้นที่บริษัทขนาดกลาง (Mid Cap) ที่มีศักยภาพและความแข็งแรงในการเติบโต ส่วนธุรกิจรายใหญ่ ธนาคารจะหันไปมุ่งเน้นเพิ่มกิจกรรมทางด้านตลาดทุนมากขึ้นให้กับลูกค้าธุรกิจ เพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้ากลุ่มนี้


ธนาคารคาดว่าอัตราส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Non-interest Income Ratio) ในปี 2561 เป็นอย่างไร

ธนาคารคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานสุทธิจะเติบโตได้ดี จากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิตามการเติบโตของสินเชื่อและการบริหารส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ดีขึ้น ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในปี 2561 มีแนวโน้มเติบโตขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อน เนื่องจากฐานในปี 2560 มีระดับค่อนข้างสูง จากการที่กลุ่มธนชาตมีรายการพิเศษจากกำไรจากเงินลงทุนในการขายหุ้น MBK ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2560 ส่งผลให้อัตราส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Non-interest Income Ratio) จะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาที่ระดับ 30-31%


ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานในไตรมาส 4 ปี 2560 ลดลงจากไตรมาสก่อน เป็นเพราะเหตุใด

ธนาคารได้มีแผนในการปรับโครงสร้างองค์กรในปี 2560 ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากธนาคารได้มีการดำเนินการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการปรับโครงสร้างองค์กรที่เกิดขึ้นน้อยกว่าที่ธนาคารได้ตั้งประมาณการไว้และได้ดำเนินการเสร็จสิ้นในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี ดังนั้น ในไตรมาส 4 ปี 2560 ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานในไตรมาส 4 จึงลดลง


ธนาคารมีผลประโยชน์ทางภาษีเหลืออยู่จำนวนเท่าใด

ธนาคารมีผลประโยชน์ทางภาษีเหลืออยู่จำนวน 948 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2560 โดยจะสามารถนำผลประโยชน์ทางภาษีดังกล่าวนี้ใช้ได้จนถึงไตรมาส 2 ปี 2561 ซึ่งเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้


ธนาคารมีแผนการบริหารคุณภาพสินทรัพย์อย่างไร

ธนาคารมีการดำเนินกลยุทธ์ในการพิจารณาความเสี่ยงในแต่ละกลุ่มลูกค้าอย่างใกล้ชิดตลอดเวลาและเป็นการพิจารณาที่รวมความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตไว้แล้ว ส่งผลให้การวิเคราะห์คุณภาพของลูกค้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ที่อาจจะเกิดขึ้น


ธนาคารมีแนวทางในการบริหารสาขาอย่างไรบ้าง

ในปัจจุบันธนาคารอยู่ในขั้นตอนการศึกษาและวิเคราะห์จำนวนและตำแหน่งที่ตั้งของสาขาให้มีความเหมาะสมและเพียงพอต่อจำนวนและความต้องการของลูกค้าในทุกกลุ่ม เพื่อให้แน่ใจว่าลูกค้าของธนาคารสามารถเข้าถึงธนาคารได้อย่างสะดวก รวดเร็วและสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าอย่างสูงสุด


ธนาคารมีแผนการดำเนินงานในการเป็นดิจิตอลแบงก์กิ้งอย่างไรบ้าง

ธนาคารมีแผนการดำเนินงานทางด้านดิจิตอลแบงก์กิ้ง โดยการพิจารณาถึงความคุ้มค่าในการโยกย้ายธุรกรรมทางการเงินที่เกิดขึ้นผ่านเคาน์เตอร์ของธนาคารไปผ่านยังระบบดิจิตอล ซึ่งธนาคารจะมุ่งเน้นไปในธุรกรรมทางการเงินขนาดเล็ก ได้แก่ การฝาก ถอน โอน จ่าย ซึ่งเป็นรายการธุรกรรมทางการเงินขั้นพื้นฐาน ที่สามารถทำได้โดยสะดวกผ่านระบบดิจิตอล เป็นผลให้ธนาคารมีต้นทุนที่ลดลง และช่วยประหยัดเวลาให้ทั้งพนักงานและลูกค้าอีกด้วย ทั้งนี้ ธนาคารยังคงมุ่งเน้นในการพัฒนาเทคโนโลยีให้มีความปลอดภัย และมีเสถียรภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าในการใช้บริการ

สรุปคำถาม-คำตอบจากการประชุมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ไตรมาส 3 ปี 2560

ธนาคารมีแผนการเติบโตสินเชื่อเช่าซื้ออย่างไรบ้าง

ธนาคารคาดว่าสินเชื่อเช่าซื้อจะยังคงขยายตัวได้ต่อไปทั้งสินเชื่อรถใหม่ รถเก่า และรถแลกเงิน โดยการเติบโตของสินเชื่อรถใหม่จะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการออกโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขายและการออกรถรุ่นใหม่ๆ ของค่ายรถยนต์ ด้านสินเชื่อรถเก่าจะมุ่งการเติบโตไปในบางประเภทรถ บางพื้นที่ หรือบางเต็นท์ ที่มีศักยภาพแข็งแรง รวมทั้งการใช้ประโยชน์จาก Blue Book ของธนาคารมากขึ้น ขณะที่สินเชื่อรถแลกเงิน ธนาคารจะมีการทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดที่เพิ่มขึ้น เพื่อตอบสนองตลาดที่ยังมีความต้องการของสินเชื่อนี้อยู่


การเติบโตของรายได้จากการรับประกันภัยของธนาคารในไตรมาสนี้มาจากสาเหตุใด

รายได้จากการรับประกันภัยเติบโตขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยมีสาเหตุหลักมาจากการบริหารจัดการต้นทุนและการบริหารการเคลมประกันอย่างมีประสิทธิภาพ การออกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า และการขยายช่องทางเพิ่มเติมอื่นๆให้ครอบคลุมตลาดได้กว้างขึ้น รวมทั้งการนำเสนอผลิตภัณฑ์บริการทางด้านดิจิตอล เช่น Thanachart Drive DD Application ส่งผลให้ธนาคารสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ดียิ่งขึ้นในตลาด ประกอบกับ การเพิ่มขึ้นของยอดขายรถยนต์ ดังนั้น รายได้จากการรับประกันภัยของธนาคารจึงเติบโตได้เพิ่มขึ้น


ธนาคารคาดว่าการใช้ผลประโยชน์ทางภาษีที่มีอยู่จะหมดลงเมื่อใด

ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2560 ธนาคารมีผลประโยชน์ทางภาษีเหลืออยู่จำนวน 1,521 ล้านบาท ซึ่งธนาคารคาดว่าการใช้ผลประโยชน์ทางภาษีจะหมดลงในไตรมาส 2 ปี 2561 ตามแผนงานที่วางไว้


ธนาคารมีแผนการบริหารสาขาอย่างไรบ้าง

ธนาคารมีการติดตามดูแลในการบริหารจัดการสาขาอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ธนาคารจะสามารถปรับตัวได้ทันและเหมาะสมตามสถานการณ์ในปัจจุบันได้มากที่สุด ด้วยการเข้าใจความต้องการของลูกค้าในการใช้บริการทางด้านสาขาให้ลึกซึ่งมากยิ่งขึ้น เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการออกแบบรูปแบบสาขาใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการและสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าอย่างสูงสุด


บริษัทจะมีการปรับแผนนโยบายการจ่ายเงินปันผลหรือไม่

บริษัทยังคงนโยบายการจ่ายเงินปันผลในแบบลักษณะ Progressive โดยบริษัทได้มีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลของปีนี้อยู่ที่หุ้นละ 0.90 บาท ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่หุ้นละ 0.80 บาท ดังนั้น อัตราการจ่ายเงินปันผลต่อหุ้นของบริษัทในปี 2560 จะไม่ต่ำกว่า 2.10 บาท เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีอัตราการจ่ายเงินปันผลอยู่ที่หุ้นละ 2.00 บาท


ธนาคารมีแผนการรองรับการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ด้านมาตรฐานรายงานทางการเงินระหว่างประเทศฉบับที่ 9 เรื่องเครื่องมือทางการเงิน (IFRS 9) อย่างไรบ้าง

จากการศึกษาขั้นต้นของธนาคารในการพิจารณาถึงผลกระทบของ IFRS 9 นั้น ธนาคารมีสำรองอยู่ในระดับสูงเพียงพอที่จะรองรับเกณฑ์การตั้งสำรองตามมาตรฐาน IFRS 9 นอกจากนี้ในปัจจุบัน ธนาคารได้พัฒนาระบบเพื่อรองรับหลักเกณฑ์ IFRS 9 ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์และพร้อมใช้งานเพื่อรายงานให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ตามกำหนดการ

สรุปคำถาม-คำตอบจากการประชุมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ไตรมาส 2 ปี 2560

ธนาคารคาดว่าสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารมีแนวโน้มเป็นอย่างไร

ธนาคารคาดว่าสินเชื่อด้อยคุณภาพโดยรวมของธนาคารอาจจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามการเติบโตของสินเชื่อต่อไปในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ธนาคารมีความมั่นใจว่าอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมจะยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ธนาคารมีการบริหารจัดการหนี้ด้อยคุณภาพอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยนโยบายการปล่อยสินเชื่อที่มีความระมัดระวัง นอกจากนี้ ธนาคารยังได้ดำเนินกลยุทธ์ด้วยการแบ่งแยกกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจนเพื่อพิจารณาความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นของแต่ละกลุ่มลูกค้า เพื่อให้การวิเคราะห์คุณภาพของลูกค้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและลดโอกาสการเกิดสินเชื่อด้อยคุณภาพให้มากที่สุด


ธนาคารคาดว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของธนาคารเป็นอย่างไร

ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของธนาคารคาดว่าปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง จากการดำเนินนโยบายเชิงรุกในการมุ่งสู่การเป็นธนาคารหลัก (Main Bank) ของลูกค้า ด้วยการมุ่งเน้นการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ เพื่อให้ลูกค้ามาเปิดบัญชีและทำธุรกรรมกับธนาคารเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้สัดส่วนในบัญชีเงินฝากประเภท CASA มากขึ้น ประกอบกับในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 ธนาคารมีแผนที่จะไถ่ถอนตราสารด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 อีกด้วย ดังนั้น ธนาคารจึงคาดว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะปรับเพิ่มขึ้นได้จากการปรับตัวลดลงของต้นทุนทางการเงินของธนาคาร


ธนาคารมีแผนการเติบโตสินเชื่ออย่างไร

ธนาคารยังคงมุ่งเน้นการเติบโตของสินเชื่อในทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง โดยธนาคารคาดว่าสินเชื่อเช่าซื้อจะยังคงขยายตัวได้ต่อไป ทั้งในสินเชื่อรถใหม่ สินเชื่อรถมือสอง และสินเชื่อรถแลกเงิน โดยสินเชื่อรถใหม่นั้น ธนาคารได้ดำเนินกลยุทธ์ในการเป็นพันธมิตรกับผู้ผลิตรถยนต์ในหลากหลายค่าย ประกอบด้วย เชฟโรเลต มาสด้า และวอลโว่ เพื่อสร้างโอกาสในการเพิ่มจำนวนฐานลูกค้าให้มากขึ้น ขณะที่สินเชื่อรถมือสองมีแนวโน้มปรับดีขึ้นจากราคารถมือสองที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติและความต้องการของรถมือสองที่เริ่มปรับเพิ่มขึ้น ส่วนสินเชื่อรถแลกเงินคาดว่ายังเติบโตได้ดีจากการปรับปรุงและพัฒนาระบบงานด้านเช่าซื้อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้านสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้มุ่งการเติบโตในบางกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความแข็งแกร่งและมีศักยภาพในการเติบโต ส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัยคาดว่าจะขยายตัวได้ดี ตามการพัฒนาช่องทางการขายและการปรับปรุงระบบการอนุมัติสินเชื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น


ธนาคารคาดว่าค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานของธนาคารเป็นอย่างไร

ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานของธนาคารมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ตามประสิทธิผลที่เกิดขึ้นจากกระบวนการทำงานที่มีความสอดคล้องกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นด้านระบบเทคโนโลยีที่ธนาคารได้ลงทุนไปแล้วในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับการสร้างความเชี่ยวชาญของพนักงานและการฝึกอบรมความรู้ให้แก่พนักงาน เพื่อให้ธนาคารสามารถสร้างความแตกต่างในการบริการลูกค้าและสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าอย่างสูงสุด ดังนั้น ธนาคารจึงให้ความสำคัญในกระบวนการทำงานเพื่อให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การลดลงของค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานในระยะข้างหน้า และส่งผลให้อัตราส่วนต้นทุนจากการดำเนินงานต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิมีแนวโน้มปรับตัวลดลง


ธนาคารมีแผนการเติบโตรายได้ค่าธรรมเนียมอย่างไรบ้าง

ธนาคารยังคงมุ่งเน้นการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิต รายได้จากการทำ Trade Finance และรายได้ค่าธรรมเนียมผ่านการทำธุรกิจวาณิชธนกิจ ถึงแม้ว่ารายได้ค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรมทางการเงินอาจมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อยตามการสอดรับนโยบายของรัฐบาลภายใต้แผน National E-Payment

สรุปคำถาม-คำตอบจากการประชุมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ไตรมาส 1 ปี 2560

ธนาคารมีแผนการเติบโตของสินเชื่อเช่าซื้ออย่างไรบ้าง

ธนาคารยังคงมุ่งเน้นการเติบโตธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อในทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ทั้งรถใหม่ รถมือสอง รวมถึงรถแลกเงิน โดยธนาคารได้ให้ความสำคัญในการจัดกลุ่มลูกค้าให้ชัดเจน เพื่อส่งมอบบริการที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มมากที่สุด ประกอบกับการพัฒนามาตรการในการพิจารณาสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสินเชื่อรถใหม่ ธนาคารได้ขยายธุรกิจเข้าไปในกลุ่มลูกค้ารถยนต์ราคาสูง ด้วยการเป็นพันธมิตรกับผู้ผลิตรถยนต์บางรายเพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายฐานลูกค้าใหม่มากขึ้น ขณะที่สินเชื่อรถมือสองมีแนวโน้มปรับดีขึ้นจากราคารถมือสองที่เริ่มกลับมาสู่ภาวะปกติและรถมือสองบางรุ่นที่มีราคาปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนสินเชื่อรถแลกเงินขยายตัวได้ดีจากการพัฒนาช่องทางการขายที่มีประสิทธิ


ธนาคารมีแผนในการเติบโตสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) อย่างไรบ้าง

ธนาคารได้มุ่งเน้นขยายสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไปในบางอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการเติบโตและมีความแข็งแกร่ง เนื่องจากการเติบโตของ SME ยังคงถูกจำกัดตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่มีการทยอยฟื้นตัวและกระจุกตัวอยู่ในบางพื้นที่และบางธุรกิจ


ธนาคารมีแผนในการบริหารค่าใช้จ่ายสำรองอย่างไรบ้าง

ในไตรมาส 1 ปี 2560 ธนาคารมี Credit Cost อยู่ที่ 0.52% อย่างไรก็ตาม ธนาคารคาดว่า Credit Cost ในปี 2560 จะอยู่ที่ประมาณ 0.60 - 0.70% โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของสินเชื่อ ทั้งนี้ ธนาคารคาดว่าจะไม่มีการตั้งสำรองส่วนเพิ่มในอนาคต เนื่องจาก ปัจจุบันธนาคารมี Coverage Ratio ในงบการเงินรวมอยู่ในระดับที่สูงและแข็งแกร่งที่ 156.82%


ธนาคารมีแผนการลงทุนในโครงการดิจิตอลแบงกิ้งอย่างไรบ้าง

ธนาคารยังคงมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในปีนี้และปีหน้า ธนาคารคาดว่าจะเน้นการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีเป็นหลัก เพื่อพัฒนาระบบเทคโนโลยีและการบริการเพื่อมุ่งสู่การเป็นดิจิตอลแบงกิ้งอย่างเต็มรูปแบบ โดยในการลงทุนดังกล่าวจะนำไปพัฒนาทั้ง 3 ด้าน ดังนี้ 1. การพัฒนาด้านการบริการดิจิตอล ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติของรัฐบาล (National e-payment) ได้แก่ ระบบพร้อมเพย์ และภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการลงทุนอยู่ประมาณ 30% 2. การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานของระบบเทคโนโลยี และความปลอดภัยของระบบ รวมทั้งเพื่อรองรับกฏเกณฑ์มาตรฐานตามที่ทางการกำหนด ซึ่งให้สัดส่วนการลงทุนอยู่ที่ 30% ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 40% จะเป็นการนำไปพัฒนาด้านสาขาและการบริการลูกค้าเป็นหลัก เพื่อปรับรูปแบบสาขาและการเพิ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รองรับการบริการแบบเซลฟ์เซอร์วิส (Self-service) ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มในการทำธุรกรรมด้วยตนเองมากขึ้นในปัจจุบัน ทั้งนี้ การลงทุนทางด้านเทคโนโลยีดังกล่าวนี้ ธนาคารพิจารณาที่จะนำผลประโยชน์ทางภาษีบางส่วนมารองรับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ซึ่งจะไม่กระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของธนาคาร รวมทั้งการปรับรูปแบบการบริการให้มุ่งสู่การเป็นดิจิตอลแบงกิ้ง จะนำไปสู่การบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคตอีกด้วย (Cost Efficiency)

สรุปคำถาม-คำตอบจากการประชุมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ไตรมาส 4 ปี 2559

ธนาคารมีแผนการเติบโตของสินเชื่ออย่างไรบ้าง

ในปี 2560 ธนาคารคาดว่าสินเชื่อในทุกกลุ่มจะสามารถขยายตัวได้ดีขึ้นจากปีก่อน โดยสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจะมุ่งเน้นการเติบโตไปในอุตสาหกรรมที่มีความแข็งแกร่งและมีศักยภาพในการเติบโตได้ดี ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยจะสามารถขยายตัวได้ดีขึ้นด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพของช่องทางการขายประกอบกับการพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญมากยิ่งขึ้น ด้านสินเชื่อเช่าซื้อคาดว่าจะเติบโตได้ทั้งจากรถยนต์ใหม่และรถยนต์เก่าที่มีการพัฒนามาตรการในการให้สินเชื่อที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น


ธนาคารมีแผนในการใช้ผลประโยชน์ทางภาษีอย่างไรบ้าง

ณ สิ้นปี 2559 ธนาคารมีผลประโยชน์ทางภาษีเหลืออยู่จำนวน 2,934 ล้านบาท ทั้งนี้ ธนาคารมีแนวโน้มที่จะนำผลประโยชน์ทางภาษีดังกล่าวมารองรับการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีด้วยการพัฒนาช่องทางการให้บริการที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของธนาคารในการแข่งขันในยุคดิจิตอลแบงกิ้ง พร้อมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุดเพื่อเพิ่มความสามารถในการทำกำไรของธนาคารได้ดียิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตามธนาคารกำลังอยู่ในขั้นพิจารณาทบทวนนโยบายการใช้ผลประโยชน์ทางภาษีดังกล่าว


ธนาคารคาดว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมีแนวโน้มเป็นอย่างไร

ธนาคารยังคงมุ่งเน้นการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเป็นหลักด้วยการจัดวางทรัพยากรบุคคลให้มีความเหมาะสมกับปริมาณธุรกรรม พร้อมทั้งปรับปรุงกระบวนการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุดเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานให้อยู่ในระดับเหมาะสมได้อย่างยั่งยืน


ในปี 2559 ธนาคารมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพลดลงได้อย่างต่อเนื่องมีสาเหตุมาจากอะไร

จากภาวะเศรษฐกิจไทยที่มีการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ธนาคารจึงได้ดำเนินการบริหารจัดการหนี้ด้อยคุณภาพด้วยความระมัดระวังจากนโยบายการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้น รวมทั้งมีแผนการจัดการที่แบ่งแยกแต่ละกลุ่มลูกหนี้ที่ชัดเจน การติดตามลูกหนี้อย่างใกล้ชิด และการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ในกรณีที่ลูกหนี้อาจมีปัญหาทางด้านการเงิน จึงส่งผลให้ธนาคารมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพลดลงมาอยู่ที่ 2.29% จากสิ้นปีก่อนที่ 2.84% ทั้งนี้ในปี 2560 ธนาคารได้มุ่งเน้นการเติบโตของสินเชื่อเป็นหลัก ซึ่งอาจส่งผลให้สินเชื่อด้อยคุณภาพปรับเพิ่มขึ้นบ้างตามการขยายตัวของสินเชื่อ แต่อย่างไรก็ตาม ธนาคารจะยังคงรักษาระดับอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพให้อยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงกับปีก่อน


ธนาคารมีแผนในการบริหารส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยอย่างไร

ด้วยภาวะอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันที่มีทิศทางปรับเพิ่มขึ้น ธนาคารจึงมุ่งเน้นที่จะเพิ่มสัดส่วนเงินฝากประเภทกระแสรายวันและเงินรับฝากประเภทออมทรัพย์ (CASA) ต่อเงินรับฝากให้สูงขึ้น ประกอบกับการเพิ่มระยะเวลาของเงินฝากประจำให้มีระยะยาวมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนเงินฝากของธนาคารมีเสถียรภาพและมีแนวโน้มลดลงได้ ในขณะเดียวกันธนาคารจะมีพิจารณาอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อให้มีความเหมาะสมเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในอุตสาหกรรม

สรุปคำถาม-คำตอบจากการประชุมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ไตรมาส 3 ปี 2559

ธนาคารมีแผนในการบริหารต้นทุนเงินฝากอย่างไรบ้าง

ธนาคารมุ่งเน้นที่จะเพิ่มสัดส่วนเงินฝากประเภทกระแสรายวันและเงินรับฝากประเภทออมทรัพย์ (CASA) ต่อเงินรับฝากให้สูงขึ้น ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าในทุกๆกลุ่ม เพื่อดึงดูดให้ลูกค้ามาใช้ธนาคารธนชาตเป็นธนาคารหลักในการทำธุรกรรม (main bank) พร้อมทั้งการเพิ่มช่องทางการทำธุรกรรมให้ครบวงจรมากยิ่งขึ้น สร้างความสะดวกสบายให้แก่ลูกค้าให้สามารถทำธุรกรรมได้ทุกที่ทุกเวลา ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2559 ธนาคารมีสัดส่วน CASA ต่อเงินรับฝากอยู่ที่ 46.76% เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากสิ้นปี 2558 ที่ 40.14%


ธนาคารมีแผนในการรองรับการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ด้านมาตรฐานรายงานทางการเงินระหว่างประเทศฉบับที่ 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน (IFRS 9) อย่างไรบ้าง

ขณะนี้ธนาคารยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีการบังคับใช้ในปี 2562 ทั้งนี้ ในขั้นต้น ธนาคารได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของหลักเกณฑ์ดังกล่าวด้วยการตั้งสำรองพิเศษเพิ่มเติมมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาส 3 ธนาคารมี Coverage Ratio ในงบการเงินรวมอยู่ที่ 136.31% และในงบการเงินเฉพาะธนาคารที่ 147.91% ซึ่งคาดว่าจะเพียงพอและไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคาร


ธนาคารมีแผนการใช้ผลประโยชน์ทางภาษีอย่างไรบ้าง

ณ สิ้นไตรมาส 3 ธนาคารมีผลประโยชน์ทางภาษีคงเหลืออยู่ที่ 3,343 ล้านบาท ซึ่งธนาคารคาดว่าจะสามารถใช้ผลประโยชน์ทางภาษีได้หมดในกลางปี 2561 ขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำกำไรของธนาคาร โดยในปี 2559 ธนาคารพิจารณาที่จะนำผลประโยชน์ทางภาษีมาตั้งสำรองเพิ่มเติมครึ่งหนึ่ง และส่วนที่เหลือจะนำมารับรู้เป็นกำไร อย่างไรก็ดี ในปี 2560 ธนาคารอาจมีการทบทวนนโยบายการใช้ผลประโยชน์ทางภาษีดังกล่าว

สรุปคำถาม-คำตอบจากการประชุมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ไตรมาส 2 ปี 2559

ธนาคารมีแผนการตั้งสำรองอย่างไรบ้าง

ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2559 อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญทั้งหมดต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ 129.01% ขณะที่งบการเงินเฉพาะธนาคาร อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญทั้งหมดต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 139.24% ถือว่าเป็นระดับที่สูงและเพียงพอ ส่วนในช่วงครึ่งปีหลัง ธนาคารคาดว่าจะยังคงมีการตั้งสำรองส่วนเพิ่ม เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตและเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ด้านมาตรฐานรายงานทางการเงินระหว่างประเทศฉบับที่ 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน (IFRS 9) ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2561 โดยจะมีผลต่อการคำนวณสำรองของธนาคารพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาในขั้นต้นคาดว่าระดับการตั้งสำรองที่มีอยู่ในขณะนี้น่าจะเพียงพอและไม่มีผลกระทบต่อการดำเนิน


ธนาคารมีแผนการเติบโตของสินเชื่อและการสร้างรายได้อย่างไรบ้าง

ธนาคารยังคงมุ่งเน้นการเติบโตของสินเชื่อทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง โดยสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารได้มุ่งเน้นขยายสินเชื่อในบางอุตสาหกรรมที่ยังมีศักยภาพในการเติบโต เพื่อให้ได้มาซึ่งอัตราผลตอบแทนที่ดี และนำไปสู่การเพิ่มสัดส่วนของการขายข้ามผลิตภัณฑ์ที่มากขึ้น ขณะที่ด้านสินเชื่อเช่าซื้อ รถยนต์ ธนาคารได้ขยายธุรกิจไปในกลุ่มลูกค้ารถยนต์ราคาสูง มีการพัฒนาระบบ scoring ให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น รวมถึงการเป็นพันธมิตรกับผู้ผลิตรถยนต์บางรายเพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจ ด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารคาดว่าจะเติบโตสินเชื่อด้วยการพัฒนาช่องทางการขาย และปรับปรุงระบบการอนุมัติสินเชื่อให้มีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังคงให้ความสำคัญในการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ควบคู่ไปกับการเติบโตของสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ธนาคาร มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินและการให้บริการอย่างครบวงจร เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าในการใช้ธนาคารธนชาตเป็นธนาคารหลักในการทำธุรกรรมของลูกค้า (operating account) ซึ่งจะนำไปสู่การขยายฐานลูกค้าและลดต้นทุนทางการเงิน ส่งผลให้รายได้ของธนาคารสามารถเติบโตในระยะยาวได้อย่างมั่นคง

สรุปคำถาม-คำตอบจากการประชุมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ไตรมาส 1 ปี 2559

กำไรสุทธิของธนาคารเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้ามีสาเหตุมาจากอะไร และมีแผนการเติบโตของกำไรสุทธิอย่างไรในอนาคต

เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่งผลให้สินเชื่อของธนาคารปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม ธนาคารมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ติดต่อกัน เนื่องจากธนาคารมีการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินได้เป็นอย่างดี เป็นผลให้ธนาคารยังคงสามารถรักษาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยได้ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของธนาคารสามารถควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพอย่างเป็นระบบ จึงทำให้ Credit Cost จากการดำเนินงานปกติลดต่ำลง นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิของธนาคาร ทั้งนี้ ธนาคารจะยังคงรักษาการเติบโตของกำไรสุทธิให้เติบโตต่อเนื่องด้วยนโยบายการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงิน การบริหารคุณภาพสินทรัพย์ให้ดียิ่งขึ้น และการควบ


ธนาคารมีแผนการใช้ผลประโยชน์ทางภาษีจำนวนที่เหลืออยู่อย่างไรบ้าง

ธนาคารมีแนวโน้มที่จะคงนโยบายการใช้ผลประโยชน์ทางภาษีต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าส่วนหนึ่งจะนำมาใช้ในการตั้งสำรองเพิ่มเติมเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ขณะที่อีกส่วนหนึ่งจะนำมารับรู้เป็นกำไร


ธนาคารคาดว่า การเปลี่ยนผ่านการทำธุรกิจของธนาคารให้เข้าสู่ธนาคารในยุคดิจิตอล จะส่งผลอย่างไรบ้าง

ธนาคารเล็งเห็นว่า การเปลี่ยนผ่านการเข้าสู่ยุคดิจิตอลนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากปัจจุบันโลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอลมากขึ้น เช่นเดียวกับภาครัฐที่มีนโยบายในการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ อีกทั้ง เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการดำเนินชีวิตประจำวันของคนเรา โดยธนาคารคาดว่ารายได้ค่าธรรมเนียมอาจจะลดลงบ้างเล็กน้อยในระยะสั้น แต่ในระยะยาว ด้วยการบริการลูกค้าที่มีประสิทธิภาพอย่างสูงสุด ผ่านการมุ่งเน้นการตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้สามารถทำธุรกรรมได้ทุกที่ ทุกเวลา จะทำให้ธนาคารมีจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นและเติบโตไปพร้อมกับจำนวนธุรกรรมของลูกค้ากับธนาคารที่มากขึ้น (Transaction Banking) นอกจากนี้ ธนาคารจะสามารถลดต้นทุนได้ในระยะยาวอีกด้วย นับเป็นการเสริม

สรุปคำถาม-คำตอบจากการประชุมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ไตรมาส 4 ปี 2558

ธนาคารมีแผนการลงทุนในโครงการ Digital Banking อย่างไร

ในการลงทุนโครงการ Digital Banking ธนาคารคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะเป็นในรูปแบบค่าใช้จ่ายตัดจำหน่าย (Amortization) ซึ่งโครงการ Digital Banking ดังกล่าวจะช่วยให้การทำธุรกรรมต่างๆ ของธนาคารเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น รวมทั้งจะสามารถดึงดูดคนรุ่นใหม่ๆให้หันมาใช้บริการกับธนาคารได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นผลให้นำไปสู่การเพิ่มสัดส่วนที่สูงขึ้นของ CASA และท้ายที่สุดจะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของค่าธรรมเนียมของธนาคารและการบริการลูกค้าที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ จากสภาพเศรษฐกิจที่เกิดการเปลี่ยนแปลง ธนาคารจึงต้องปรับการดำเนินงานให้เหมาะสมต่อสภาวะตลาดที่เปลี่ยนไป ด้วยการรวมสาขาที่ใกล้เคียงกันเข้าด้วยกัน โดยจะเริ่มดำเนินการจากย่านธุรกิจในเมืองเป็นลำดับแรก ซึ่งจะเป็นการช่วยลด


ธนาคารมีผลขาดทุนทางภาษีเหลืออยู่จำนวนเท่าใด และมีแผนการใช้ผลขาดทุนทางภาษีอย่างไรในปี 2559

ธนาคารมีผลขาดทุนทางภาษี ณ สิ้นปี 2558 จำนวน 25,326 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นผลประโยชน์ทางภาษี จำนวน 5,065 ล้านบาท ซึ่งในปี 2558 ธนาคารได้นำผลขาดทุนทางภาษีมาใช้ในการตั้งสำรองเพิ่มเติมเป็นจำนวน 2,216 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ธนาคารได้เล็งเห็นว่า ท่ามกลางความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น การสร้างความแข็งแกร่งของธนาคารเป็นนโยบายหลักที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจธนาคาร ดังนั้น ธนาคารจึงมีแผนจะนำผลขาดทุนทางภาษีดังกล่าวนำมาตั้งสำรองเพิ่มเติมส่วนหนึ่ง และนำมารับรู้เป็นกำไรอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุนต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคารในระยะยาว


TCAP มีแผนการจัดการทรัพย์สินรอการขายอย่างไร

TCAP คาดว่าการจัดการทรัพย์สินรอการขายนั้นจะขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสภาวะตลาด โดยทรัพย์สินรอการขายส่วนใหญ่นั้นเป็นทรัพย์สินรอการขายที่ค่อนข้างมีศักยภาพ ดังนั้น การจัดการทรัพย์สินรอการขายของ TCAP จึงเป็นไปตามภาวะของตลาดที่เอื้ออำนวย ซึ่งจะมุ่งเน้นการสร้างมูลค่าของสินทรัพย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ


ธนาคารคาดว่าการเติบโตของสินเชื่อเป็นอย่างไรในปี 2559

ธนาคารจะยังคงมุ่งเน้นในการเติบโตของสินเชื่อในทุกกลุ่มต่อไป โดยสินเชื่อเช่าซื้อของธนาคาร เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวเล็กน้อยจากภาวะชะลอตัวของตลาดรถยนต์ที่เริ่มลดลง นอกจากนี้ ธนาคารได้ทำการปรับปรุงและพัฒนาระบบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจเช่าซื้อและมาตรการในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตของสินเชื่อในอนาคตและเพิ่มโอกาสในการขายข้ามผลิตภัณฑ์ที่มากขึ้น ขณะที่สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารคาดว่าจะเติบโตดีขึ้นด้วยการพัฒนาระบบช่องทางการขายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนด้านสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จะมุ่งเน้นการเติบโตในบางพื้นที่ บางอุตสาหกรรม ที่มีความแข็งแกร่ง รวมทั้งการขยายการเติบโตไปในส่วนที่เกี่


ธนาคารมีแผนการเติบโตรายได้ค่าธรรมเนียมอย่างไรในปี 2559

ธนาคารได้ให้ความสำคัญต่อการขยายตัวของรายได้ค่าธรรมเนียมอย่างต่อเนื่อง โดยด้านธุรกิจรายย่อย ธนาคารได้วางระบบโครงสร้างพื้นฐานและการฝึกอบรมพนักงานในการใช้เครื่องมือ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคารให้มีความหลากหลายและเหมาะสมกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม ซึ่งจะนำไปสู่การสนับสนุนให้ลูกค้ามาทำธุรกรรมกับธนาคารได้มากยิ่งขึ้น ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิต ยังคงสามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง ด้วยการขยายช่องทางการขายที่มากขึ้น ส่วนด้านธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารได้มุ่งเน้นการเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมผ่านการทำธุรกิจวาณิชธนกิจ เช่น การเป็นผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้ หรือ การเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ (Trade Finance) โดยมุ่งเน้นไปที่บริษัทขนาดกลางเป็นหลัก

สรุปคำถาม-คำตอบจากการประชุมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ไตรมาส 3 ปี 2558

ธนาคารมีแผนการเติบโตของสินเชื่อในไตรมาส 4 และปีหน้าอย่างไร

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจในปีนี้ที่ยังไม่ฟื้นตัวและไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ ธนาคารคาดว่าสินเชื่อในปีนี้จะเติบโตติดลบ ถึงแม้ว่าการเติบโตของสินเชื่อในไตรมาส 3 ที่ผ่านมาและไตรมาส 4 จะเริ่มมีสัญญาณ การปรับตัวดีขึ้น ส่วนปีหน้าสินเชื่อมีแนวโน้มที่จะเติบโตดีขึ้นจากปีนี้ตามการเติบโตของสินเชื่ออื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น สินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสินเชื่อบ้าน ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อมีแนวโน้มเติบโต ติดลบต่อเนื่องจากปีนี้ในช่วงแรก ซึ่งขณะนี้ธนาคารอยู่ในระหว่างการดำเนินการจัดทำแผนธุรกิจของปีหน้าและตัวเลขการเติบโตในด้านต่าง ๆ


ธนาคารคาดว่าอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพในปีหน้ามีแนวโน้มเป็นอย่างไร

ธนาคารคาดว่าอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพมีแนวโน้มลดลงจากการบริหารหนี้ด้อยคุณภาพอย่าง มีประสิทธิภาพ โดยธนาคารและบริษัทย่อยมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพลดลงต่อเนื่องจากไตรมาส 3 ปีก่อน ที่ร้อยละ 4.53 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.42 ณ สิ้นไตรมาส 3 ปีนี้ ทั้งนี้ ธนาคารมีแผนในการดำเนินงานหลายมาตรการที่จะส่งผลให้สินเชื่อด้อยคุณภาพลดลง ทั้งการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การขายหนี้ และการตัดหนี้สูญ (write off) ด้วยการบริหารจัดการหนี้ด้อยคุณภาพดังกล่าว ประกอบกับนโยบายการปล่อยสินเชื่อของธนาคารที่มี ความระมัดระวัง ส่งผลให้การเกิดสินเชื่อด้อยคุณภาพมีแนวโน้มต่ำลง ทั้งหมดนี้จะทำให้ธนาคารคาดว่าอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารจะสามารถลดลงได้ต่ำกว่าร้อยละ 3 เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ในปีหน้า


ธนาคารมีแผนการเติบโตของเงินฝากอย่างไรบ้าง

ธนาคารได้ให้ความสำคัญในการเติบโตทางด้านเงินฝากของธนาคาร โดยธนาคารได้มุ่งเน้นการออกผลิตภัณฑ์และบริการที่จะให้ลูกค้ามาเปิดบัญชีและทำธุรกรรมกับธนาคารเพิ่มขึ้น เพื่อขยายสัดส่วนในบัญชีเงินฝากประเภท CASA ให้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนเงินฝากของธนาคารลดลง และเพื่อรองรับหลักเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เริ่มบังคับใช้ในปีหน้า


ธนาคารมีแผนอย่างไรในการใช้ผลขาดทุนทางภาษี เนื่องจากธนาคารมีผลขาดทุนทางภาษีจาก การชำระบัญชีของบริษัท สคิป จำกัด (มหาชน) ที่ได้เสร็จสิ้นในไตรมาส 2 ของปีนี้

จากการชำระบัญชีของบริษัท สคิป จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้เสร็จสิ้นในไตรมาส 2 ของปีนี้ ส่งผลให้ ธนาคารมี ผลขาดทุนทางภาษีจากเงินลงทุนในบริษัทย่อยคงเหลือจำนวน 27,723 ล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2558 ประกอบกับ ธนาคารได้เล็งเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่จะมีผลกระทบต่อ การทำธุรกิจของธนาคารในอนาคต ได้แก่ 1. การปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณสินทรัพย์เสี่ยงด้านเครดิต ซึ่งจะมีผลต่อการกำหนดน้ำหนักความเสี่ยงของสินทรัพย์ที่เปลี่ยนไป 2. มาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศฉบับที่ 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน (IFRS 9) โดยสภาวิชาชีพบัญชีมีแผนที่จะนำมาใช้ในประเทศไทย ปี 2562 ซึ่งจะมีผลต่อการคำนวณเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ ดังนั้น ธนาคารจึงได้เตรียมวางแผนเพื่อรองรับการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ด้านเงินกองทุนและมาตรฐานบัญชีในรูปแบบใหม่ โดยการใช้ผลขาดทุนทางภาษีดังกล่าวมาใช้ในการตั้งสำรองเพิ่มเติมส่วนหนึ่ง ขณะที่อีกส่วนหนึ่งจะรับรู้เป็นกำไรเพื่อเพิ่มเงินกองทุนของธนาคารให้แข็งแกร่ง ซึ่งจะส่งผลให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นต่อความสามารถในการดำเนินธุรกิจของธนาคารอย่างมั่นคงในระยะยาว

สรุปคำถาม-คำตอบจากการประชุมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ไตรมาส 1 ปี 2558

ธนาคารมีแผนการเติบโตของสินเชื่ออย่างไรในปีนี้

ธนาคารยังคงรักษาความเป็นผู้นำทางด้านสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ในขณะเดียวกัน ธนาคารได้มุ่งเน้นขยายการเติบโตของสินเชื่อประเภทอื่นๆ ได้แก่ สินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อวิสากิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยมุ่งเน้นการเติบโตในบางอุตสาหกรรมและบางพื้นที่ที่ยังมีความแข็งแกร่งและมีศูนย์ธุรกิจเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการบริการของลูกค้ามากขึ้น


ธนาคารมีแผนการดำเนินงานใน Digital Banking อย่างไร

ธนาคารได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบ Digital Banking โดยได้มุ่งเน้นระบบที่มีมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากลที่นำมาจาก Scotiabank และส่งพนักงานเพื่อเข้ารับการฝึกอบรมให้มีความเชี่ยวชาญและมีศักยภาพมากขึ้น เพื่อจะนำมาซึ่ง CASA และรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารที่ดีขึ้นต่อไปในอนาคต โดยธนาคารคาดว่า ระบบ Mobile Banking จะสามารถเปิดให้บริการได้ประมาณสิ้นไตรมาส 3 ของปีนี้ นอกจากนี้บริษัทในเครือของธนาคารธนชาตได้พัฒนาเครื่องมือทางเทคนิค เพื่อตอบสนองในการบริการลูกค้าที่ดีขึ้น


ธนาคารมีแผนการจัดการเรื่อง เงินกองทุนของธนาคาร อย่างไรบ้างในปีนี้

ธนาคารมีแผนที่จะไถ่ถอนหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน (Hybrid Tier 1) ที่ถูกนับลดตามเกณฑ์การทยอยนับลดของ Basel III และออกตราสารทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (Common Equity Tier 1) ทดแทน จำนวนประมาณ 5,000 ล้านบาท ประมาณไตรมาส 4 ปี 2558 สำหรับเงินกองทุนชั้นที่ 2 ธนาคารได้ออกตราสารด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (Tier II – Write down) จำนวน 7,000 ล้านบาทในเดือน พฤษภาคม 2558 เพื่อทดแทนตราสารหนี้ด้อยสิทธิ 2 ชุดที่ไม่สามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ได้ตามเกณฑ์ Basel III ซึ่งมีจำนวนรวมกัน 11,000 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้เงินกองทุนของธนาคารยังคงอยู่ในระดับสูงและมีความแข็งแกร่ง

สรุปคำถาม-คำตอบจากการประชุมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ไตรมาส 4 ปี 2557

อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคาร (Coverage Ratio) เป็นอย่างไรในปี 2558

ธนาคารยังคงมุ่งเน้นการบริหารจัดการสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารอย่างต่อเนื่องจากปี 2557 โดยมีกลยุทธ์กระบวนการติดตามหนี้อย่างใกล้ชิดโดยพิจารณาตามความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละราย การปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้าบางรายที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และการขายหนี้ออกบางส่วน ซึ่งธนาคารคาดว่าสินเชื่อด้อยคุณภาพและอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL ratio) จะปรับลดลง ส่งผลให้อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพที่เป็นงบการเงินเฉพาะกิจการของธนาคาร (Coverage Ratio of the Bank Only) มีแนวโน้มปรับดีขึ้นตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ร้อยละ 100 นอกจากนี้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองของธนาคาร (Credit Cost) มีแนวโน้มลดลงตามการบริหารสินทรัพย์อย่างมีคุณภาพ


ธนาคารคาดว่าการเติบโตของสินเชื่อเป็นอย่างไร

ธนาคารคาดว่าสินเชื่อเติบโตประมาณร้อยละ 2-4 จากปีก่อน โดยสินเชื่อเช่าซื้อยังคงมีการเติบโตติดลบ เนื่องจากในแต่ละเดือนการชำระคืนเงินต้นของลูกค้าสินเชื่อเช่าซื้อมีจำนวนค่อนข้างสูงและมากกว่าการปล่อยสินเชื่อใหม่ซึ่งมีแนวโน้มลดลงตามการแข่งขันที่รุนแรงจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่มีการทำธุรกิจเช่าซื้อด้วยการกระตุ้นการทำโปรโมชั่นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมคาดว่าจะสามารถเติบโตได้ร้อยละ 8-10 โดยสินเชื่อธุรกิจยังมีการเติบโตจากฐานธุรกิจที่แข็งแกร่ง ขณะที่สินเชื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ยังสามารถเติบโตได้ในบางพื้นที่และบางอุตสาหกรรม ส่วนสินเชื่อวิสาหกิจขนาดเล็ก ธนาคารยังคงมุ่งเน้นในการทำผ่านเครือข่ายสาขาอย่างต่อเนื่อง


ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของธนาคารมีแนวโน้มเป็นอย่างไร

ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามการบริหารต้นทุนทางการเงินอย่างเหมาะสม ธนาคารปรับกลยุทธ์โดยชักชวนให้ลูกค้ามาเปิดและใช้บัญชีกระแสรายวันและออมทรัพย์ของธนาคารมากขึ้น ขณะที่ธนาคารคาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ตามการฟื้นตัวอย่างช้าๆของเศรษฐกิจไทยซึ่งเป็นผลดีต่อต้นทุนทางการเงินของธนาคารในอีกทางหนึ่ง


ธนาคารมีแผนการเติบโตรายได้ค่าธรรมเนียมอย่างไร

ธนาคารยังคงมุ่งเน้นการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมต่างๆมากขึ้น ได้แก่ รายได้ค่าธรรมเนียมจากบริการบัตรเอทีเอ็ม รายได้ค่าธรรมเนียมจากกลุ่มลูกค้าธุรกิจ กลุ่มให้คำปรึกษาด้านการเงินธุรกิจและกลุ่มวาณิชธนกิจ


ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของธนาคารเป็นอย่างไร

ธนาคารยังคงมุ่งเน้นการลดค่าใช้จ่ายดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากความพยายามการนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้ระบบการทำงานมีประสิทธิภาพและทันสมัยยิ่งขึ้นเพื่อลดความซับซ้อนของขั้นตอนและให้บริการลูกค้าได้รวดเร็วมากขึ้น


กลุ่มธนชาตมีแผนการซื้อหุ้นคืนอย่างไร

เนื่องจากกลุ่มธนชาตมีกลยุทธ์ในการบริหารสภาพคล่องทางการเงินให้มีประสิทธิภาพ และสร้างผลตอบแทนที่เหมาะสมแก่ผู้ถือหุ้น ปัจจุบันบริษัทฯ มีสภาพคล่องส่วนเกินอยู่จำนวนหนึ่ง ประกอบกับ บริษัทฯและธนาคารธนชาตมีเงินกองทุนในระดับสูงเพียงพอต่อการขยายธุรกิจในอนาคต กลุ่มธนชาตจึงเห็นสมควรในการเข้าซื้อหุ้นคืนเพื่อการบริหารสภาพคล่อง ซึ่งจะส่งผลให้กำไรต่อหุ้นดีขึ้นและผู้ถือหุ้นได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น

สรุปคำถาม-คำตอบจากการประชุมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ไตรมาส 3 ปี 2557

แนวโน้มของสินเชื่อด้อยคุณภาพเป็นอย่างไร

สินเชื่อด้อยคุณภาพมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากธนาคารยังคงเน้นในเรื่องการบริหารจัดการสินเชื่อด้อยคุณภาพให้มีประสิทธิภาพท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีแผนการจัดการที่แบ่งแยกแต่ละกลุ่มลูกหนี้ที่ชัดเจน การติดตามลูกหนี้อย่างใกล้ชิด และการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ในกรณีที่ลูกหนี้อาจมีปัญหาทางด้านการเงินจากผลกระทบภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่หดตัวและภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตามธนาคารคาดว่าหากภาวะเศรษฐกิจมีทิศทางฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้นและการดำเนินกลยุทธ์ตามแผนงานของธนาคารจะช่วยลดการเกิดหนี้เสียเป็นผลให้อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพปรับตัวลดลงและเป็น


แนวโน้มการตั้งสำรองของธนาคารในอนาคตเป็นอย่างไร

ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองมีแนวโน้มที่ลดลงตามการปรับนโยบายการปล่อยสินเชื่อที่สอดรับกับภาวะเศรษฐกิจ เป็นผลให้การไหลตกชั้นของลูกหนี้ลดลง นอกจากนี้ธนาคารได้มีการดูแลลูกหนี้อย่างใกล้ชิด ทั้งกระบวนการติดตามหนี้และการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้บางส่วน ส่งผลให้ทิศทางการตั้งสำรองในอนาคตปรับตัวลดลง


การเติบโตของสินเชื่อเป็นอย่างไร

สินเชื่อในปีนี้คงจะไม่มีการเติบโต เนื่องจากสินเชื่อเช่าซื้อยังคงเติบโตติดลบ เพราะ

  • การชำระคืนของเงินต้นของลูกค้าสินเชื่อเช่าซื้อในแต่ละเดือนมีจำนวนค่อนข้างสูงเนื่องจากพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อของธนาคารมีขนาดใหญ่ ในขณะที่การปล่อยสินเชื่อใหม่มีจำนวนที่น้อยกว่าตามการชะลอตัวของตลาดรถยนต์และภาวะเศรษฐกิจ
  • การแข่งขันที่รุนแรงจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่มีการเข้ามาแข่งขันในการทำธุรกิจเช่าซื้อโดยการทำโปรโมชั่นอย่างต่อเนื่อง
  • นโยบายการปล่อยสินเชื่อของธนาคารที่มีความเข้มงวดสอดรับกับการปรับตัวทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ธนาคารคาดว่าจะสามารถชดเชยการเติบโตของสินเชื่อได้บางส่วนจากสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก (SME – S)


แผนการปรับโครงสร้างเงินฝากเป็นอย่างไร

สถานการณ์การแข่งขันทางด้านเงินฝากมีแนวโน้มไม่รุนแรงมากนักซึ่งสอดคล้องกับภาวะการชะลอตัวของสินเชื่อ และภาพรวมของตลาดที่คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะยังคงอยู่ในระดับนี้สักระยะหนึ่งเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ธนาคารจึงมุ่งเน้นไปที่การนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากที่เหมาะสมกับความต้องการในตลาดและเน้นการขยายตัวในบัญชีเงินฝากประเภท CASA มากขึ้น เพื่อรองรับการทำธุรกรรมของลูกค้ากลุ่มนี้

สรุปคำถาม-คำตอบจากการประชุมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ไตรมาส 2 ปี 2557

สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารเป็นอย่างไรบ้าง

ในช่วงที่ผ่านมาสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารที่เพิ่มขึ้นมาจากสินเชื่อเช่าซื้อรถมือสองเป็นหลัก โดยเป็นผลกระทบมาจากโครงการรถคันแรกที่ส่งผลให้ราคารถมือสองลดลง ในขณะที่สินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ปล่อยภายใต้นโยบายสินเชื่อของธนาคารเกิดหนี้เสียขึ้นเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตามภายใต้นโยบายการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ที่เข้มงวดขึ้นของกลุ่มธนชาตตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปีก่อน ธนาคารคาดว่าอัตราการเพิ่มของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในครึ่งปีหลังน่าจะลดลง รวมทั้งธนาคารยังคงเป้าหมายต่อเนื่องที่จะลดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ให้ต่ำลง


การตั้งสำรองในครึ่งปีหลังเป็นอย่างไร

การตั้งสำรองของธนาคารในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เนื่องจาก การตั้งสำรองขาดทุนจากการขายรถยึดมีแนวโน้มดีขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมาธนาคารมีการยึดรถเพิ่มขึ้นและเร่งประมูลขายรถออกไปให้เร็ว อีกทั้งนโยบายการปล่อยสินเชื่อของธนาคารที่เข้มงวดและเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัว จะเป็นผลให้อัตราการตกชั้นของลูกหนี้ลดลง และเกิดหนี้เสียลดลง


การเติบโตของสินเชื่อในครึ่งปีหลังเป็นอย่างไร

สินเชื่อเช่าซื้อน่าจะหดตัวลง เนื่องจากยอดขายรถยนต์ได้ชะลอตัว อย่างไรก็ตามคาดว่า สินเชื่อน่าจะเติบโตได้จากสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นหลัก โดยสินเชื่อธุรกิจยังมีความต้องการในการขออนุมัติสินเชื่อและการเบิกเงินกู้ของลูกค้า ส่วนสินเชื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมุ่งเน้นลูกค้าเก่าซึ่งส่วนมากจะเป็นธุรกิจอาหารและบริการที่นำไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนหรือขยายธุรกิจ ในขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยคาดว่ายังเติบโตตามการรอโอนโครงการใหม่ๆอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง


สถานการณ์ทางด้านเงินฝากในครึ่งปีหลังจะเป็นอย่างไร

การแข่งขันทางด้านเงินฝากของธนาคารน่าจะไม่มีความรุนแรงในครึ่งปีหลัง เนื่องจากธนาคารคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะมีนโยบายในการรักษาสภาพคล่องในตลาดให้อยู่ในเกณฑ์ที่สูงและธนาคารของรัฐยังไม่มีความต้องการใช้เงินเป็นจำนวนมากในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังมีต้นทุนเงินฝากที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับธนาคารขนาดใหญ่ เนื่องจากธนาคารขนาดใหญ่มีสัดส่วนของ CASA สูงถึงร้อยละ 50-60 ของเงินฝาก ดังนั้นธนาคารมีแผนในการลดต้นทุนเงินฝาก โดยมุ่งเน้นในการเพิ่มสัดส่วน CASA ให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยการชักชวนลูกค้าสินเชื่อให้เปิดบัญชีออมทรัพย์กับธนาคารมากขึ้น


ธนาคารมีแผนจะเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมอย่างไรบ้าง

ธนาคารคาดว่ารายได้ค่าธรรมเนียมมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าในไตรมาสก่อน รายได้ดังกล่าวอาจจะลดลงไปบ้างเล็กน้อยตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงเนื่องจากสถานการณ์การเมืองในประเทศ อย่างไรก็ตามธนาคารยังคงมุ่งเน้นการสนับสนุนรายได้ค่าธรรมเนียมต่างๆเพิ่มมากขึ้น อาทิเช่น ค่าธรรมเนียมจากบริการบัตรเอทีเอ็มและค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต อีกทั้งธนาคารได้มุ่งเน้นที่จะขยายไปทางด้านธุรกิจจากการทำ Letter of Credit (L/C), Trust Receipt (T/R) และ การทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ (FX) ให้มากขึ้นเช่นกัน


ธนาคารมีแผนในการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอย่างไรบ้าง

ธนาคารยังสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้ดีจากการนำเทคโนโลยีต่างๆเข้ามาช่วยเสริมเพื่อลดความซับซ้อนในขั้นตอนการทำงานและสร้างกระบวนการทำงานให้เป็นระบบมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานและการลดลงของต้นทุนอย่างต่อเนื่อง

สรุปคำถาม-คำตอบจากการประชุมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ไตรมาส 4 ปี 2556

การเติบโตสินเชื่อที่ร้อยละ 6-7 ในปี 2557 จะสามารถบรรลุเป้าหมายได้หรือไม่ เนื่องจากสินเชื่อเช่าซื้อน่าจะมีการชำระคืนที่เพิ่มขึ้นและอาจจะมากกว่าสินเชื่อเช่าซื้อที่ปล่อยใหม่

ในปี 2557 ธนาคารมุ่งเน้นที่จะให้มีการเติบโตในสินเชื่อธุรกิจขนาดกลาง สินเชื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งธนาคารมีลูกค้ากลุ่มเป้าหมายอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีนโยบายในการหาลูกค้าตามประเภทธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโต และลูกค้าเก่าที่มีประวัติดี สำหรับสินเชื่อเช่าซื้อมีการรับชำระคืนจากลูกหนี้เพิ่มขึ้น จึงทำให้การเติบโตของสินเชื่อเช่าซื้อในปีนี้คงไม่สูงเหมือนปีที่ผ่านๆมา ในขณะที่สินเชื่อรายย่อยอื่นๆที่ไม่ใช่สินเชื่อเช่าซื้อ ธนาคารมุ่งเน้นที่จะเพิ่มการเติบโตขึ้น และธนาคารมีระบบ Scoring ในการอนุมัติสินเชื่อรายย่อยรวมทั้งสินเชื่อวิสาหกิจขนาดย่อม (SME S) ซึ่งก็จะช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการอนุมัติและควบคุมความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม การบรรลุเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อที่ร้อย


ธนาคารมีนโยบายในการดำเนินการเรื่อง Internet Banking, Cash Management และ One Account See Through อย่างไรบ้าง

เรื่อง Internet Banking สโกเทียแบงก์ได้นำระบบ Internet Banking มาใช้กับธนาคาร โดยดำเนินการติดตั้งแทนระบบเดิม ซึ่งระบบของสโกเทียแบงก์มีระบบรักษาความปลอดภัยที่มีมาตรฐานระดับสากลและมีความปลอดภัยสูง ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้ามั่นใจกับการทำธุรกรรม Online กับธนาคารมากขึ้น โดยยังอยู่ในระหว่างดำเนินการลงระบบ และจะมีทั้งระบบ Internet Banking สำหรับลูกค้ารายย่อยและครอบคลุมไปถึง Internet Banking ของลูกค้ารายใหญ่สำหรับการทำ Cash Management ด้วย

ในเรื่อง One Account See Through ธนาคารมีระบบ CEM (Customer Experience Management) ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยให้พนักงานสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทราบว่าลูกค้ามีการใช้บริการธนาคารด้านใดบ้าง ควรจะนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใดให้แก่ลูกค้า เพื่อสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าและตอบสนองความต้องการทางการเงินของลูกค้าได้อย่างตรงจุด


Credit cost ในปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 0.73 ส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุใด และธนาคารมีเป้าหมาย Credit Cost อย่างไรในปี 2557

ค่าใช้จ่ายสำรองในปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 0.73 ของสินเชื่อ ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจเช่าซื้อ แต่ธนาคารเชื่อว่าจากนโยบายการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้นจะทำให้ Credit Cost ในปี 2557 จะลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.60 (รวมขาดทุนจากการขายรถยึด) ธนาคารประมาณการว่าในปี 2557 นี้จะมี Credit Cost ลดลง จากการตั้งสำรองลดลง เนื่องจาก

  1. ในปี 2555 ธนาคารปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อในจำนวนที่สูงมาก ส่งผลให้สินเชื่อเช่าซื้อเติบโตสูงถึงร้อยละ 38.57 ส่งผลให้เกิดหนี้เสียเพิ่มขึ้นในปี 2556 จึงต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปี 2556 การปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อมีจำนวนลดลงจากปี 2555 มากพอสมควร ธนาคารจึงคาดการณ์ว่าหนี้เสียจะลดลงในปี 2557 และการตั้งสำรองก็จะลดลงตามไปด้วย
  2. ในปี 2556 ธนาคารมีนโยบายการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้น ในขณะที่ยอดปล่อยสินเช่าซื้อในปี 2556 ปรับตัวลดลงจากปี 2555 ตามภาวะตลาด ส่งผลให้คาดการณ์อัตราการเกิดหนี้เสียใหม่ลดลงในปี 2557 ธนาคารจึงมีภาระในการตั้งสำรองในปี 2557 ลดลง

อยากทราบภาพรวมของรถมือสองเพิ่มเติมว่า ในปี 2556 การขาดทุนจากการขายรถยึดเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับปี 2555

ในปี 2556 ขาดทุนจากการขายรถยึดเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปี 2555 เนื่องจากราคารถมือสองปรับตัวลดลงตามภาวะตลาดรถยนต์มือสองที่มีอุปสงค์และอุปทานไม่สมดุลย์กัน


กลุ่มธนชาตมีอัตราค่าเผื่อหนี้สูญ และหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) ในระดับที่เพียงพอหรือไม่

ณ 31 ธันวาคม 2556 กลุ่มธนชาตมี Coverage Ratio อยู่ที่ร้อยละ 82.61 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม แต่อย่างไรก็ตามหากพิจารณาอัตราค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อตามงบการเงินรวม ธนาคารมีอัตราดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 3.81 ซึ่งแบ่งเป็นอัตราค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของสินเชื่อเช่าซื้อที่ร้อยละ 2.22 และมีอัตราค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของสินเชื่ออื่นที่ไม่รวมสินเชื่อเช่าซื้อ อยู่ที่ร้อยละ 5.77 แต่เนื่องจากสินเชื่อเช่าซื้อคิดเป็นร้อยละ 55.28 ของสินเชื่อรวมของธนาคาร ส่งผลให้อัตราค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 3.81 ดังกล่าว ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม ดังนั้นจะเห็นได้ว่าธนาคารมีค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่เพียงพอ